“เจ็บแล้วต้องจำ ช้ำแล้วต้องเรียนรู้” ไม่ใช่แค่กับปุถุชนคนทั่วไปเท่านั้น แต่คำพูดนี้หมายถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจพัง ธุรกิจล้มระเนระนาด หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว กว่าจะฟื้นกลับมาได้
วันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาทและวิกฤตต้มยำกุ้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ออกรายงาน ‘ครบรอบ 27 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท-วิกฤตต้มยำกุ้ง เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยดีขึ้น’ เพื่อให้สะท้อนภาพและให้บทเรียนว่า 27 ปีผ่านไปประเทศไทยในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ต่างจากเมื่อปี 2540 ยังไง แล้วปัญหาไหนที่ยังเป็นความท้าทาย Brand Inside สรุปมาให้แล้ว
ย้อนรอย 27 ปี ทำไมไทยถึงเจอ ‘ต้มยำกุ้ง ’?
เล่าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งมาจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) ที่ผูกค่าเงินบาทเอาไว้กับเงินดอลลาร์
หมายความว่า ในตอนนั้น 1 ดอลลาร์จะเท่ากับ 25 บาทเสมอไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นยังไง
ค่าเงินบาทช่วงนั้นเลยขาดความยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง จนนำมาสู่เหตุการณ์โจมตีค่าเงินในช่วงนั้น
วันนี้ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว ไทยเลยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchage Rate Regime) ทำให้ 1 ดอลลาร์ไม่เท่ากับ 25 บาทอีกต่อไป
แต่เงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ อย่างที่เราเคยเห็นเงินบาทอ่อนค่าจนไปถึง 37-38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
ในวันนี้ แม้ยังมีการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย แต่ความผันผวนของค่าเงินบาทมีแนวโน้มชะลอตัวลง เปรียบเทียบค่าความผันผวนของเงินบาทให้เห็นภาพกันหน่อย
- ครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 6.8%
- ปี 2566 อยู่ที่ 9.0%
- ปี 2541 (หลังลอยตัวค่าเงินบาท 1 ปี) อยู่ที่ 34.5%
สะท้อนว่า การลอยตัวค่าเงินบาททำให้มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คอยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของเงินบาทลง
แต่ในยุคสมัยของการใช้ระบบลอยตัวค่าเงินบาทก็มี ‘ความท้าทายใหม่’ เหมือนกัน ตรงที่ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าก็ต้องจับตาดูแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก นักลงทุนจะนำเงินเข้าหรือออกจากตลาดการเงิน บวกกับว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวได้แค่ไหน
‘ต้มยำกุ้ง’ เกิดจากความไม่สมดุล ปัจจุบันไทยเข้มแข็งมากกว่า
วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 นอกจากเรื่องของค่าเงินบาท ยังมาจาก ‘ความไม่สมดุล’ ในหลายข้อ ทั้งภาคเอกชนและสถาบันการเงินที่ไม่ตระหนักเรื่องความเสี่ยงทำให้กู้ยืมเงินเกินตัว หนี้ต่างประเทศก็สูง ตอกย้ำด้วยการเก็งกำไรของภาคอสังหาริมทรัพย์จนฟองสบู่แตก
ในปี 2530-2540 บัญชีเดินสะพัดขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่อง แต่อัตราแลกเปลี่ยนกลับถูกตรึงไว้ ไม่ให้ยืดหยุ่น ทำให้ทางการไทยต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปดูแลค่าเงิน จนทำให้ทุนสำรองร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ
ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีน้อย การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศที่พอกพูน ต่างเป็นปัจจัยส่งผลต่อการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในที่สุด แล้วในปัจจุบันตัวเลขพวกนี้เป็นยังไงบ้างถ้าเทียบกับปี 2540
GDP
- ปี 2540 และ ปี 2541 อยู่ที่ -2.8% และ -7.6%
- ปี 2566 และ ปี 2567 อยู่ที่ +1.9% และคาดว่า +2.6%
ทุนสำรองสุทธิฯ
- เดือนมิถุนายน ปี 2540 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์
- เดือนมิถุนายน ปี 2567 อยู่ที่ 25.29 หมื่นล้านดอลลาร์
ดุลบัญชีเดินสะพัด
- ปี 2530-2540 ขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ -5.1% ต่อ GDP
- ปี 2564-2565 ขาดดุลติดต่อกัน แต่ปี 2566 กลับมา +1.4% ต่อ GDP
หนี้ต่างประเทศ
- ปี 2540-2542 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศเฉลี่ย 69.2% ต่อ GDP
- ปี 2566 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศเริ่มชะลอลงมาที่ เฉลี่ย 38.6% ต่อ GDP หลังขยับขึ้นในช่วงโควิด
สรุปภาพรวมได้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 โดยจุดแตกต่างจากปี 2540 ที่โดดเด่นอยู่ตรงที่ ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ มีความเข้มแข็งกว่า สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน
ส่วนเรื่องการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ทางการก็ได้มีมาตรการดูแลหลังจากมีบทเรียนครั้งใหญ่ที่ผ่านพ้นไปในปี 2540 แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ไม่มีความท้าทายรออยู่
ความท้าทายใหม่กำลังมา ตั้งแต่เฉพาะหน้าจนถึงโครงสร้าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า ‘โจทย์’ ของเศรษฐกิจไทยตอนนี้แตกต่างจากอดีต มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน โดยปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้มีอยู่ 5 ข้อหลักด้วยกัน คือ
- หนี้ทั้งระดับรัฐบาลและครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
- ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ที่จะกระทบต่อซัพพลายเชนในระดับโลก
- ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs
- การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมา คือการขาดแคลนคนทำงานและภาระเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขในระยะยาว
- การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ที่ต้องเตรียมตัวรับมือ
แม้โจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งจะค่อยๆ คลี่คลายลงแล้ว แต่แน่นอนว่าพอเข้าทศวรรษใหม่ ความท้าทายใหม่ก็เข้ามา คราวนี้เป็นประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับโจทย์ที่อาจจะส่งผลในระยะกลางและระยะยาว ที่ถ้าไม่รีบลงมือแก้ไขก็อาจจะค่อยๆ ทยอยสร้างความไม่สมดุลให้เศรษฐกิจอีกก็ได้
ที่มา – KResearch
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา