เศรษฐกิจโลกปี 2021 HSBC ชี้วัคซีนเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ การบริโภคฟื้นตัวไม่เท่ากัน ธนาคารกลางยังคงดอกเบี้ยต่ำ

เศรษฐกิจโลกปี 2021 จากบทวิเคราะห์ของ HSBC โดยปัจจัยสำคัญคือวัคซีนโควิดที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ขณะเดียวกันนโยบายธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังใช้นโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ อย่างไรก็ดีการบริโภคของแต่ละประเทศหลังจากนี้จะฟื้นตัวไม่เท่ากัน

Joe Biden COVID-19 Vaccine โจ ไบเดน
ภาพจาก Shutterstock

บทวิเคราะห์จาก HSBC มองเศรษฐกิจโลกปัจจุบันจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2021 โดยสถาบันการเงินจากอังกฤษรายนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการกระจายวัคซีนเป็นหลัก หลังจากที่มีการพัฒนาวัคซีนครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดหลายๆ วัคซีนได้รับอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขหลายๆ ประเทศ ทำให้ความไม่แน่นอนลดลง ประชาชนทั่วโลกต่างหวังการกลับมามีชีวิตประจำวันในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดีในระยะสั้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ กำลังประสบปัญหาของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในอีกระลอก

แต่ปัญหาที่ HSBC ตั้งคำถามหลังจากนี้คือเรื่องของการขนส่งวัคซีน ซึ่งวัคซีนหลายๆ ตัวต้องใช้การขนส่งที่พิเศษเนื่องจากใช้อุณภูมิต่ำระดับ -70 องศาเซลเซียส ยังรวมไปถึงความกังวลถึงประชาชนที่ไม่ไว้ใจในวัคซีนก็ยิ่งทำให้การกระจายวัคซีนแก่ประชาชนช้าลงไปอีก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการกระจายวัคซีนในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย ทำให้ HSBC เปรียบเทียบว่าเหมือนกับมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังมีความอึมครึมอยู่

เรื่องของการฟื้นตัวของผู้บริโภคนั้นจะมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดย HSBC มองว่าหลังจากนี้การใช้จ่ายจะมีการปลดปล่อยจากความอัดอั้นในปี 2020 ในบางพื้นที่ เช่น กรณีของไต้หวัน หรือนิวซีแลนด์ที่การบริโภคฟื้นตัวเท่ากับหรือสูงกว่าช่วง COVID-19 แล้ว อย่างไรก็ดีในบางประเทศอย่างเช่นกรณีของจีนนั้นการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของประชาชนกลับฟื้นตัวอย่างช้าๆ นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ยังมีผลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ที่มีความมั่งคั่งจะเพิ่มการใช้จ่าย สภาวะของตลาดแรงงาน รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนการใช้จ่ายต่างๆ จากรัฐบาล

เศรษฐกิจสหรัฐวัดใจกับวัคซีน

เศรษฐกิจสหรัฐนั้น HSBC มองว่าจะฟื้นตัวในรูปตัว W มากกว่า V จากการกลับมาแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกรอบ แต่หลายๆ ธุรกิจในสหรัฐเองสามารถเริ่มปรับตัวเข้ากับการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องของห่วงโซ่อุปทานที่สหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงหลังจากนี้ที่มีการกระจายวัคซีนแล้วนั้นจะทำให้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาแข็งแกร่งอย่างเดิม

แม้ว่าจะมีการกระจายวัคซีนไปแล้วก็ตามรวมถึงตัวเลขอัตราการว่างงานจะลดลงมาเหลือ 7% ในเร็วๆ นี้ แต่เศรษฐกิจของสหรัฐจะมีบาดแผลจากอัตราการว่างงาน รวมถึงตกงานแบบถาวร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก COVID-19

ทางด้านนโยบายการคลังของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน คาดว่ามาตรการเยียวยาธุรกิจและผู้ได้รับผลกระทบจะมีแนวโน้มที่ไม่มากและไม่น้อยไปกว่าปัจจุบันนี้ แต่ขึ้นกับการระบาดรอบใหม่ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐมากขนาดไหน นอกจากนี้ยังคาดว่านโยบายของไบเดนเองน่าจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปรับโครงสร้างภาษี

ขณะที่นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐเองคาดว่าจะมีการใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ระดับต่ำในช่วง 0.00-0.25% จนกว่าจะมีอัตราการว่างงานที่ลดลงมากกว่านี้ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่ 2% และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังทยอยซื้อสินทรัพย์เช่นพันธบัตรรัฐบาลที่ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน เช่นเคยจนถึงช่วงกลางปีเป็นอย่างน้อย และค่อยทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ลงหลังจากนี้ ถ้าหากการแพร่ระบาด COVID-19 จำกัดจนไม่กระทบกับเศรษฐกิจ

Shanghai China Cloudy
ภาพจาก Unsplash

จีนฟื้นตัว แต่น่าเป็นห่วง SME

หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น เศรษฐกิจจีนได้ฟื้นตัวหลักจากภาคการก่อสร้าง รวมไปถึงภาคการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขส่งออกของประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตได้ดีกว่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ขณะที่ภาคบริการของจีนยังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนด้านของภาคการบริโภคของจีนกลับยังฟื้นตัวได้ช้าจากการออมเงินที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงความกลัว COVID-19 จะแพร่ระบาดอีกรอบ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ส่งผลต่อเนื่องมายังภาคเอกชนเองก็มองถึงความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดีในปี 2021 นี้ HSBC คาดว่าการบริโภคของจีนจะฟื้นตัวกลับมาได้ จากปัจจัยคือการฟื้นตัวของภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนจากทางภาครัฐโดยเฉพาะการก่อสร้างจะลดลง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของภาครัฐ รวมไปถึงการจัดหาเงินทุนของเอกชนที่จะทำได้ลำบากมากขึ้น

ขณะที่เดียวกันนโยบายการเงินของจีนคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกนั้นจะยังเป็นภาพรวมที่ยังผ่อนคลายอยู่ แต่จะมีการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงมาบางส่วน นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินโดยเฉพาะเรื่องหนี้ ทำให้ HSBC มองว่าภาคเอกชนจะมีการฟื้นตัวของธุรกิจที่ช้าลง

ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองของเศรษฐกิจจีนในปีหน้าคือเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของ SME ที่นโยบายพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมนี้ ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นแก่ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก และอาจทำให้ธนาคารกลางจีนออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น การดำเนินการให้กู้ยืมในระยะกลาง เพื่อสนับสนุนให้ SME เดินหน้าต่อไปได้

London England ลอนดอน COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

ยุโรปกับผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ

หลังจากที่ไตรมาส 3 นั้น GDP ของยุโรปกลับมาฟื้นตัวมากถึง 12.5% จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง ส่งผลทำให้การบริโภคในยุโรปกลับมาฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และยังรวมไปถึงการลงทุนที่สูงมากขึ้นอย่างน่าตกใจจนเทียบได้กับการฟื้นตัวแบบรูปตัว V สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาครัฐจากมาตรการทางการคลัง รวมถึงการลงทุนในที่อยู่อาศัย ขณะที่ตัวเลขการค้าสุทธิของยุโรปก็ยังช่วยให้เศรษฐกิจยุโรปดูดีมากขึ้น

แม้ว่าจะมีการระบาดรอบใหม่ในทวีปยุโรปและมีการล็อกดาวน์ แต่ HSBC มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรปมากเท่ากับในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากมาตรการต่างๆ ผ่อนคลายลง ขณะที่เศรษฐกิจหลายๆ ประเทศยังมีการค้าขายแทบจะปกติ ยกเว้นแค่ฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ห้ามร้านค้าที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเปิดให้บริการ ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถปรับตัวกับการทำงานที่บ้านได้ดีมากขึ้น หรือบางกิจการก็มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว

อย่างไรก็ดีผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหลายๆ ประเทศเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่เน้นภาคการบริการ หรือการท่องเที่ยว เช่น สเปน ฯลฯ จะใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่าปกติ ขณะที่ประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลักอย่างเยอรมัน กลับมีการฟื้นตัวที่ไวกว่า

HSBC ยังมองว่ามาตรการต่างๆ จากสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปควรจะออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนตลาดแรงงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะทำให้ภาคเอกชนลดการปิดกิจการลง อย่างไรก็ดีเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติแล้ว หนี้มหาศาลที่เกิดขึ้นอาจทำให้หลายๆ ประเทศต้องกลับมาเจรจากันใหม่ในเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ และ HSBC มองว่าในปี 2021 จะเป็นปีที่ท้าทายของนโยบายยุโรป

ขณะที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรนั้น HSBC มองว่าแม้จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19  และเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็ตาม แต่โดยรวมแล้วสภาพเศรษฐกิจยังถือว่าฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการบริโภคในประเทศ รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตได้ดี แต่สิ่งที่สถาบันการเงินรายนี้เป็นห่วงมากที่สุดคือธุรกิจต่างๆ ยังไม่พร้อมที่จะปรับตัวหลังจากการออกจากสหภาพยุโรป เนื่องจากธุรกิจหลายๆ แห่งจะต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจหลังจากนี้

Japan Japanese ชาวญี่ปุ่น
ภาพจาก Shutterstock

เศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดระลอกใหม่

ญี่ปุ่นเองกำลังประสบปัญหาในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศพัฒนาอื่นๆ อย่างไรก็ดีความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นถือว่าลดลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเองก็ได้ประกาศถึงการแพร่กระจายวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเองไม่ต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมาเหมือนกับปี 2020

ขณะเดียวกันนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็จะยังสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกไปอีกสักระยะแม้ว่านโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้จะหมดอายุในเดือนมีนาคมปี 2021 ก็ตาม

นอกจากนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือการควบคุมดูแลไม่ให้มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากไปกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองคาดว่าจะอยู่ในตำแหน่งถึงแค่เดือนกันยายน 2021 และจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้ HSBC มองว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจสะดุดจากความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย

คาดการณ์ GDP ในปี 2021

  • เศรษฐกิจโลกจะเติบโตราวๆ 4.8%
  • สหรัฐอเมริกาคาดว่าจะเติบโต 3.5%
  • จีนคาดว่าเติบโตได้ถึง 8.5%
  • ญี่ปุ่นเติบโต 3.2%
  • อินเดีย 8.3%
  • มาเลเซีย 6.7% สิงคโปร์ 6.5%
  • ยูโรโซน 4.7%
  • ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาเติบโตเฉลี่ย 3.4%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ