เทรนด์การทำงานปี 2020: หาเงินหลายทาง ไม่ทำงานบ้างก็ได้ ร้องไห้ในที่ทำงานคือเรื่องปกติ

เว็บไซต์ Digiday สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานและผู้คนที่ทำงานในวงการโฆษณาเพื่อพูดคุยถึงโลกการทำงานในปี 2020 ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และนี่คือสิ่งที่เหล่ากูรูคาดการณ์เอาไว้

การไม่ทำงานคือมาตรฐานใหม่ของการทำงาน

ยุคปัจจุบันที่มีเหล่าบรรดาคนกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z เข้ามาในโลกการทำงานมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้มีมุมมองและให้คุณค่ากับการทำงานที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาไม่ได้มองว่างานคือทุกสิ่งในชีวิต เพราะฉะนั้นไม่ต้องทุ่มเท(ในแง่เวลา)ให้กับงานมากขนาดนั้นก็ได้ รวมไปถึงงานวิจัยในช่วงหลังๆ ที่เริ่มออกมาป่าวประกาศว่า การทำที่หนักเกินไปส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตโดยตรง

Josh Cohen นักจิตวิทยาคลินิกผู้เขียนหนังสือ Not Working: Why We Have to Stop ระบุว่า เราอยู่ในยุคที่การทำงานหนักเป็นเรื่องปกติมานาน จนตอนนี้เราแทบจะนึกไม่ออกแล้วว่า โลกของการ “หยุด” ทำงานมันเป็นอย่างไร

ดังนั้น หนึ่งในเทรนด์ของการทำงานในปี 2020 จึงเป็นการหยุดพักระหว่างวันทำงานบ้าง คือหยุดทำงานแบบไร้จุดหมาย ปล่อยตัวปล่อยใจให้อยู่ในสภาวะไร้เป้าหมาย เพื่อให้สมองได้พักและเกิดความคิดสร้างสรรค์รวมถึงจินตนาการ อันจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมหาศาลสำหรับโลกการทำงานในอนาคต

หาเงินหลายทางยังคงฮิต แต่ถ้าทำงานออฟฟิศก็อยากทำหลายอย่าง

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z มีมุมมองต่อการทำงานว่า “ไม่จำเป็นต้องทำงานเดียว”

งานวิจัยของ The Open University ในปี 2017 พบว่า คน Gen Z กว่า 95% มีความต้องการที่จะเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าอย่างมิลเลนเนียลที่มีเพียง 47% เท่านั้น นอกจากนั้นคน Gen Z กว่า 53% ยังเป็นคนที่ไม่นิยมการทำงานเดียวหรือมีรายได้ทางเดียว

สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความหมายของ “งาน” เพราะหากคน Gen Z ที่ต้องทำงานออฟฟิศ ไม่ได้ออกไปเป็นเจ้าของกิจการอย่างที่วาดฝัน พวกเขามีความต้องอย่างสูงที่จะอยู่ในองค์กรที่ผลักดันให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพหลายอย่าง เปิดโอกาสให้ทำมากกว่า 1 งาน เพราะถึงที่สุดพวกเขาชอบความเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญชอบที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ร้องไห้ในที่ทำงานคือเรื่องปกติ

คนยุคนี้ใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าคนยุคก่อน ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึง Co-Working Space ที่เปิด 24 ชั่วโมง คุณจะเข้าออฟฟิศมาทำงานตอนไหนก็ได้ เทรนด์แบบนี้นำมาสู่ความคิดเรื่องชีวิตและการทำงานที่ต่างออกไป เพราะในยุคก่อนคนส่วนใหญ่จะแยกการใช้ชีวิตกับการทำงานออกจากกัน อย่างมากก็อยู่ในที่ทำงาน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากนั้นกลับบ้านเพื่อไปใช้ชีวิต (แต่ยุคนี้ new normal คือ แม้จะกลับบ้าน แต่ก็ยังต้องหอบงานกลับไปทำด้วย)

เพราะฉะนั้น เมื่อคนยุคนี้ใช้เวลาในที่ทำงานมากขึ้น จึงเกิดเทรนด์ของการใช้ชีวิตในที่ทำงาน การมาทำงานไม่ใช่เพียงแค่พาร่างกายหรือวิญญาณตายซากเข้ามาในออฟฟิศ แต่มันคือการใช้ชีวิตที่ต้องหาสมดุล (balance) ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของ “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวพันด้วย

ดังนั้นเหล่ากูรูจึงมองว่า การร้องไห้ในที่ทำงานยุคนี้ไม่ได้เป็นภาพแสดงของความอ่อนแออีกต่อไป หากแต่มันคือด้านของความมนุษย์ เพราะถึงที่สุด “เราหัวเราะในที่ทำงานได้ แล้วทำไมเราจะร้องไห้ในที่ทำงานไม่ได้ล่ะ”

เงินเดือนอาจไม่ใช่ความลับอีกต่อไป

การทำงานในยุค 2020 ผู้คนจะเริ่มพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงเรื่อง “เงินเดือน” มากขึ้น

ไม่ใช่เพราะว่าต้องการจะสอดรู้สอดเห็นเท่านั้น แต่มันจะนำมาซึ่งการสร้างบรรทัดฐานและตรวจสอบความเข้าใจเรื่องเงินเดือนในวงกว้างมากขึ้น หรือถ้าจะพูดให้เฉพาะเจาะจงคือ หากทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ความรับผิดชอบในสายงานที่ใกล้กัน เอาเข้าจริงแล้ว มันมีความต่างของอัตราเงินเดือนหรือไม่ เมื่อเทียบระหว่างผู้ชาย vs. ผู้หญิง หรือหากเทียบระหว่างสีผิว เป็นต้น อย่างไรก็ดี หลังจากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องเงินเดือนเสร็จแล้ว หากเห็นความต่างที่เลือกปฏิบัติหรือไม่เป็นธรรม ก็จะนำไปสู่การต่อรองในท้ายที่สุดนั่นเอง

ประเด็นนี้ลองอ่านจากบทความของ Jessica Bennett นักเขียนและบรรณาธิการของ The New York Times เธอเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ได้ค่อนข้างดี I’ll Share My Salary Information if You Share Yours

ปัญหาสุขภาพจิตจะถูกพูดถึงมากขึ้นในที่ทำงาน

เรื่องปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน เพราะอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการหมดไฟที่เพิ่มมากขึ้นของคนทำงานในยุคนี้ ทำให้การแก้ปัญหาระยะยาวอย่างการไปพบแพทย์จะกลายเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาด้านจิตใจในที่ทำงานจึงต้องการการเปิดพื้นที่ให้กับพนักงานเพื่อสร้างการพูดคุย แลกเปลี่ยน และทำให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปกปิด เก็บงำ หรือทำให้เป็นความลับ เพราะในท้ายที่สุดปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง

ที่มา – Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา