ปี 2019 เศรษฐกิจโลกผ่านจุดดีที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะไปต่อยังไง?

เศรษฐกิจไทยปี 2018 เหมือนจะดี แต่ถ้าสำรวจชีวิตประชาชนก็ยังย่ำกันอยู่จุดเดิม ส่วนหนึ่งเพราะการบริโภคในประเทศยังไม่ดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรยังตก แต่ค่าข้าว ของใช้แพงขึ้นทุกที มีข่าวว่าปีหน้าเศรษฐกิจทั่วโลกจะแย่กว่านี้แล้วไทยจะเป็นอย่างไร?

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มธนาคารเกียรตินาคิน บอกว่า ปีหน้าภาพรวมต่างประเทศไม่สวยหรู โดยนักลงทุนต้องจับตามองใน ทั้งประเด็นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

ปี 2019 เศรษฐกิจโลกผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้ว

ปีนี้เห็นภาพหลายประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาพร้อมๆ กัน เช่น สหรัฐฯ ประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) ฯลฯ แต่ปัจจุบันเกือบทุกประเทศ การค้าหมุนช้าลงส่งผลให้ประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นก็โตช้าลง อย่างตัวเลข PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) จีน เอเชีย ชะลอลงพร้อมๆ กัน “ตอนนี้เหลือสหรัฐฯ คนเดียวที่ยังโตอยู่ แต่คนเริ่มคุยกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ดีขึ้นแล้ว เพราะมีสัญญาณจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมานาน ดอกเบี้ยนโยบายที่ขยับสูงขึ้น และราคาบ้านเริ่มชะลอตัวลง จนคนมองว่าปี 2020 จะเกิด Recession (ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ) ไหม? ส่วนใหญ่คนมองว่า 2019 ชะลอตัว Recession”

เศรษฐกิจโลกไม่สวยหรู ดอกเบี้ยขาขึ้น สภาพคล่องแย่ลง

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตดี เงินเฟ้อเป็นขาขึ้น อัตราการว่างงานต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐพยายามทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นระยะ 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-5 ครั้ง (หรือเพิ่มขึ้นอีก 0.75-1.25%) ในระยะสั้นอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐมากกว่า 2% (หรือเกือบ 3%) ซึ่งจะกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศที่กู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพราะจะเริ่มเห็นการไหลออกของเงินดอลลาร์สหรัฐในหลายประเทศกลับสู่สหรัฐฯ เช่น ประเทศ Emerging Markdet ที่มีการส่งออกเยอะ

จับตา Trade War นโยบายทั้งจีนและสหรัฐฯ

นักลงทุนจับตา Trade War มาก เพราะความไม่แน่นอนของ Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนข้อเจรจา และนโยบายต่างๆ ตลอดเวลา สาเหตุที่ Trump ต้องกดดันจีนเพราะต้องการรักษาฐานเสียงทางการเมือง ตามนโยบายดึงฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐ

จากปัจจุบันสหรัฐขาดดุลการค้าจีนกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ “Trump ด่าจีนเท่าไร คะแนนเสียงยิ่งมา แต่ cost ที่เกิดขึ้นก็เยอะ เพราะผู้ประกอบการอาจจะต้องถอนการผลิตออกจากสหรัฐฯ ถ้าต้องการขายสินค้าไปประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ ทนไม่ได้ถ้าจีนจะกลายเป็นผู้นำ แล้วก็ใหญ่กว่าสหรัฐฯ วันนี้สหรัฐฯ รู้สึกว่าจีนเอาเปรียบเรื่องเทคโนโลยี อย่าง iPhone ราคา 2-3 หมื่นบาท แต่แบรนด์อื่นๆ ในจีน ราคาเหลือ 4-5 พันบาท”

ขณะเดียวกันจีนยังออกนโยบาย “Made in china 2025” ดังนั้น Cold war (สงครามเย็น) จะกระทบไปทั่วโลก อย่างบริษัทที่สร้างโรงงานในจีนก็ส่งไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ช่วงนี้ยังตัดสินใจได้ยากเพราะนโยบายการค้ายังเปลี่ยนไปมาอาจทำให้เสียผลประโยชน์ทางการค้า เลยทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกวางแผนยากขึ้นและผันผวนต่อไป

ภาพจาก Unsplash

ปี 2019 เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงและปัจจัยบวกอะไรบ้าง?

ความเสี่ยงในปีหน้าของเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามอง ได้แก่

1. ราคาสินค้าเกษตรไม่ดี และลดลงต่อเนื่องหลายเดือนติดๆ กัน เช่น ราคายาง ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย พอราคาตกก็ทำให้การบริโภคต่างจังหวัดไม่ดี

2. ถ้าเศรษฐกิจต่างประเทศแย่ลง ตัวเลขการส่งออก และการท่องเที่ยวอาจจะไม่เติบโต รวมถึงหากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาไทยอาจจะแย่กว่านี้

3. การเมืองไทยยังมีความผันผวน

ปัจจัยบวกในปี 2019 ได้แก่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น การลงทุน EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor)

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. รวมถึงภายใน 12 เดือนนี้อาจจะปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง

ภาพจาก Pixabay

แล้วปีนี้ไทยจะเป็นอย่างไร?

ทั้งปี 2018 คาดการณ์ว่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ไทยจะเติบโตที่ 4.2-4.3% จากที่ครึ่งปีแรก 2018 GDP ไทยเติบโต 4.8%

ตั้งแต่ต้นปีเศรษฐกิจไทยเราเป็นแบบ “แข็งนอก อ่อนใน” คือเติบโตจาการส่งออก การท่องเที่ยว และเห็นการฟื้นตัวจากคนกลุ่มบน รวมถึงการบริโภคสินค้าาคงทนอย่างรถยนต์ ฯลฯ ก็เพิ่มขค้น แต่ยังเห็นความเหลื่อมล้ำจากราคาสินค้าเกษตร การบริโภคในต่างจังหวัดยังไม่ดีขึ้น

“เรามองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตช้าลง แต่ไม่ได้อยู่ในภาวะ Recession แม้ว่าเครื่องยนต์ต่างๆ ที่ผลักดันเศรษฐกิจจะเริ่มหายไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว อย่างปีหน้ามองว่า GDP ไทยอาจจะอยู่ที่ 3% ซึ่งตามศักยภาพของไทย GDP น่าจะโตได้ที่ 3-4%”

สุดท้ายปัญหาของไทยยังคงอยู่ที่ปัญหากเดิม อย่างที่ ดร.อนุชิต ชิตานุกุล บอกไว้ว่า “แก่ เจ็บจน คนน้อย ด้อยศึกษา ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง”

สรุป

เศรษฐกิจไทยปีนี้ไปจนถึงปีหน้าอาจจะไม่เฟื้องฟู แต่ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้ง สหรัฐฯ จีน ฯลฯ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีรายได้มากจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ถ้าโลกกระทบไทยก็กระทบ ทว่าปัญหาพื้นฐานของไทยจะดีขึ้นหรือไม่?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา