2561 คือปี “นายจ้างง้อลูกจ้าง” แล้วฝั่ง HR จะช่วยเหลืออะไรได้ ลองมาฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญกัน

ปี 2561 คือปีที่ฝ่ายทรัพยากรณ์บุคคล หรือ HR ต้องคิดใหม่ในหลายๆ จุด เพราะจำนวนประชากรวัยแรงงานจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และกลายเป็นตัวแปรสำคัญของปรากฎการณ์ “นายจ้างง้อลูกจ้าง​”

ทุกอย่างต้องคิดใหม่ เพราะคนไม่พอ

เมื่อจำนวนประชากรวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปีเริ่มปรับตัวน้อยลง เพราะจำนวนประชากรเกิดขึ้นแทบไม่มี ทำให้ความหลากหลายในองค์กรจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ ผ่านปัจจัยเรื่องคนที่มีอายุเกินกว่าประชากรแรงงานก็จะเข้ามาเพิ่ม เพื่อทดแทนเด็กรุ่นใหม่ที่มีน้อย และบางคนก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงที่จะมาทดแทนคนเก่าๆ ได้

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหาร ทรัพยากรณ์บุคคล สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า หากยังเป็นเช่นนี้อยู่ อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลกับตลาดการจ้างงานโดยตรง เพราะแรงงานไม่เพียงพอ คล้ายกับประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่

“มันเสียตั้งแต่นโยบายมีลูกมากจะยากจนในยุคก่อน ซึ่งไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราเป็นกึ่ง Labor Intensive แต่พอเอา Capital Intensive เหมือนประเทศพัฒนาแล้วมาใช้ ทั้งที่เราไม่ได้มีเงินเยอะ แถมประชากรก็แก่ กลายเป็นปัจจุบันคนเราไม่พอ หรือจน, คนน้อย และที่มีก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ ส่งผลให้ HR ยุคนี้จะมองแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว”

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหาร ทรัพยากรณ์บุคคล สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เก่ง-ค่าแรงสูง แต่นายจ้างต้องง้อ

เมื่อคนผลิตออกมาไม่เพียงพอ และบางคนที่จบออกมาก็ไม่ได้เก่งตามสายอาชีพ คงไม่แปลกที่ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทยอย่างกลุ่ม CP และอื่นๆ ต้องมาเปิดโรงเรียนเอง เพื่อพัฒนาคนให้ตรงกับที่เขาต้องการที่สุด แต่ในฝั่งองค์กรธุรกิจทั่วไป ก็ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง และเมื่อคนไม่พอ ก็คงไม่แปลกที่ต้องง้อลูกจ้างทุกรูปแบบ

โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial ที่เบื้องต้นพวกเขาจะดูก่อนเลยว่า ให้ค่าจ้างตามราคาตลาดหรือไม่, แบรนด์บริษัทต้องดัง, ต้องมีดูงาน, ต้องมีโค้ชให้ และต้องมีเทคโนโลยี รวมถึงความยืดหยุ่น และแผน Career Path ที่ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ Quality of Work Life ของพวกเขาให้ได้ และนำมาสร้างโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทอย่างเร็วที่สุด

“ไม่แปลกที่นายจ้างต้องง้อ ก็คนมันไม่พอ และจะมาตั้งปังตอให้หมูวิ่งมาหาคงไม่ได้แล้ว ตัวนายจ้างเองต้องลับปังตอให้คมเพื่อวิ่งไปสับหมูเอง และ HR ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ดีผ่านการสร้าง Employee Value Proposition (EVP) ที่ Attractive มาก เพื่อให้พวกคนรุ่นใหม่เห็นแผนระยะยาว ไม่ใช่แค่เพิ่มเงิน เพราะที่อื่นก็ทำได้เหมือกัน”

ภาพ pexels.com

คนแก่ยังสำคัญ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกันวิธีการดึงผู้สูงอายุกลับมาทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมก็เป็นอีกวิธีช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีประสบการณ์ และความอดทน แต่อาจต้องให้ความยืดหยุ่นในบางเรื่อง เช่นทำงานเป็นกะ หรือไม่ต้องเข้าทุกวัน เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตช่วงหลังวัยทำงานอย่างมีความสุข

“ยิ่งแก่ยิ่งจนยังไม่หายไปจากสังคมไทย เพราะอัตราการออมเราต่ำมาก ดังนั้นผู้สูงอายุเขาก็อยากทำงานเหมือนกัน เพื่อจะได้มีเงินใช้ แต่ด้วยธุรกิจยุคใหม่มันมีอะไรเกิดขึ้นเยอะ ก็คงต้องเอาพวกเขามาอบรมกันใหม่ และการให้เด็กอบรมเรื่องต่างๆ เช่นเทคโนโลยีก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี แถมยังสร้างความใกล้ชิดในองค์กรได้อีกด้วย”

ตัวอย่างเช่นการจ้างคนวัย 40 ต้นๆ มานั่งเป็น Operator รับโทรศัพท์ก็น่าจะเหมาะสมกว่าเอาเด็กรุ่นใหม่ เพราะคนวัยนั้นมีความอดทน และวินัยมากกว่า บางครั้งการเอาเด็กสาวสายๆ มานั่งรับหน้าบริษัทเหมือนที่ทำกันทั่วไป เขาอาจอยู่ได้ไม่ยาว และต้องหาคนใหม่มาตลอด ถือเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ

อยู่เกิน 3 ปีเป็นบุญ-หุ่นยนต์ไม่ใช่ทุกคำตอบ

สำหรับอัตราเฉลี่ยของคนทำงานในยุคปัจจุบันสามารถแบ่งได้คือ ไม่เกิน 1 ปี หรือกลุ่มที่มองว่างานไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากทำ, 1-3 ปี คือกลุ่มที่อยู่ระหว่างค้นหาตัวเอง และเกิน 3 ปี คือกลุ่มที่ HR มีโอกาสดึงพวกเขาไว้ให้ได้ยาวนาน เพราะเริ่มอยู่ตัว และมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่ได้รับจากงานแล้ว

“HR ต้องมองให้ออก ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ถ้าให้ดีคือต้องรู้ตั้งแต่สัมภาษณ์งาน จะมาคุยเฉยๆ คงไม่ได้ เพราะการสัมภาษณ์ทำให้รู้เป้าหมายของเขา และมองออกว่า Loyalty หรือไม่ ถ้าใช้ก็ทุ่มเรื่อง EVP และสิทธิประโยชน์ กับเขาได้เลย แต่ต้องจำว่าไม่ใช่ลงเงินอย่างเดียว ประสบการณ์ และความท้าทายคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ก็อยากได้เช่นกัน”

และถึงหุ่นยนต์จะเริ่มมามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ฝ่าย HR ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมนุษย์ยังต้องการติดต่อกับคน แต่ถ้าในธุรกิจที่ใช้แรงงาน หรือการวิเคราะห์มากๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเริ่มอยู่ยากขึ้น โดยถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และ HR ก็กลายเป็นฝั่งที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้

สรุป

การบริหารคนในปี 2561 นอกจากคนที่หลากหลาย ทำให้ HR ทำงานได้ยากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ต้องทำให้เหมาะสมในแต่ละคน เพื่อตอบโจทย์ และดึงคนเก่งๆ รวมถึงมีทัศนคติที่ดีไว้ในบริษัทไว้ได้ยาวนาน แต่จะถึงจุดนั้นได้ HR เองก็ต้องศึกษาวิธีดูคนให้ออกก่อนด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา