บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เตรียมรับมือ 136 ประเทศเตรียมเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ไทยก็เอาด้วย!

136 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศที่เป็น tax haven ต่างพร้อมใจลงนาม ตกลงเห็นชอบเรียกเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติขั้นต่ำ 15%

เรื่องนี้ Rishi Sunak รัฐมนตรีคลังกล่าวไว้ว่า มันเป็นความตกลงที่ถือว่าเป็นการยกระดับระบบภาษีโลกสำหรับโลกยุคสมัยใหม่ ตอนนี้เรามีระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งหลาย ไม่ว่าเขาจะไปทำธุรกิจที่ไหน เขาก็สามารถจ่ายภาษีนั้นได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ประเด็นเรื่องเรียกเก็บภาษีบริษัทข้ามชาตินี้ OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นแกนกลางในการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือร่วมกันและอาจจะสร้างเม็ดเงินจากภาษีในระดับมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.98 ล้านล้านบาทต่อปี สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ทำให้หลายประเทศสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ระบาดได้

ไอร์แลนด์ ฮังการีและเอสโตเนียคือกลุ่มประเทศที่คิดอัตราภาษีบริษัทในระดับที่ต่ำกว่า 15% โดยไอร์แลนด์คิดภาษีบริษัทต่างประเทศอยู่ที่ 12.5% ทำให้เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ค่อนข้างมาก เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple แม้จะไม่เห็นด้วยกับแผนเก็บภาษี 15% ดังกล่าวในตอนแรก แต่ตอนนี้รัฐมนตรีคลังของไอร์แลนด์ก็สนใจเข้ามาร่วมเก็บภาษีตามแผนที่ว่านี้ด้วย มีบางประเทศ เช่น เคนยา ไนจีเรีย ปากีสถาน และศรีลังกายังไม่ได้ร่วมลงนามกับการเก็บภาษีดังกล่าว

สำหรับอัตราภาษีที่จะเก็บกับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ (Multinational Enterprises: MNEs) เก็บในอัตรา 15% รองประธานฝ่ายกิจการโลกของ Facebook อย่าง Nick Clegg ยินดีที่จะจ่ายตามข้อตกลงดังกล่าวและมองว่ามันช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณะและยังทำให้บริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา Martin Guzman กล่าวว่า อัตราภาษีระดับนี้ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้จะเห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว แต่เขาก็เห็นแย้งว่าควรจะเก็บภาษีอย่างน้อย 21%

ขณะที่องค์การ Oxfam ระบุว่ายังเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป โดยเฉลี่ยแล้วอัตราภาษีสำหรับประเทศอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 23.5% โลกกำลังเผชิญกับความยากจนที่เพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ มันกำลังจะทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายใหญ่ขึ้นมาก แต่ความตกลงที่ว่ากันอยู่นี้ ดูแล้วเหมือนจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแค่เพียงนิดเดียวหรือเรียกว่า ไม่ได้พยายามระงับให้ปัญหาขยายตัวเลย

การเรียกเก็บภาษีบริษัทระดับโลกในอัตราขั้นต่ำ 15% ของประเทศต่างๆ คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2023 โดย 136 ประเทศที่ว่านี้ถือเป็นกว่า 90% ของ GDP โลก ซึ่งการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติระดับโลกนี้มีการเรียกขื่อคำแถลงว่าเป็น Two-Pillar Solution หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการจัดเก็บภาษีแบ่งออกเป็นสองเสาหลักให้เป็นทางเลือกในการจัดเก็บภาษี

เสาแรก (Pillar One) สิทธิในการจัดเก็บภาษี คือการแบ่งสัดส่วนสิทธิในการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐ โดยประเทศกำลังพัฒนาจะมีรายได้เพิ่มมากกว่าประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่า

เสาที่สอง (Pillar Two) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Global Anti-Base Erosion หรือ GloBE เป็นการแก้ปัญหาสำหรับบริษัทข้ามชาติที่ถ่ายโอนผลประโยชน์และกำไรไปยังประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำหรือไม่จัดเก็บภาษีเลย (หรือบรรดาประเทศที่เป็น tax haven หรือประเทศที่เรียกเก็บภาษีต่ำ สวรรค์ของนักลงทุนทั้งหลาย)

หมายความว่าถ้าลงทุนในหลายประเทศ บริษัทสามารถถ่ายโอนกำไรไปยังบริษัทที่เสียภาษีต่ำหรือไม่เก็บภาษีได้ คราวนี้บริษัทเหล่านี้จะทำได้ลำบากขึ้น เพราะขั้นต่ำของ 136 ประเทศ 15% ถ้วนหน้าเท่ากัน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จะไม่สามารถโอนถ่ายผลประโยชน์ไปยังประเทศที่อยู่ใน 136 ประเทศ ที่มีการเรียกเก็บอัตราภาษีที่ต่ำกว่า เว้นแต่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะหาทางออกด้วยการหันไปหาประทศอื่นที่ไม่ใช่ 136 ประเทศนี้แทน

นอกจากจะกำจัดกระบวนการโอนถ่ายผลประโยชน์ไปยังประเทศที่เป็น tax haven หรือสวรรค์ของนักลงทุนแล้ว Pillar Two ยังออกแบบมาเพื่อให้สามารถเพิ่มการเรียกเก็บภาษีได้อีกในภายหลังเมื่อระบบภาษีมีความเสถียรแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง การกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำจะทำให้หลายประเทศสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

การเก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำคือการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำที่อัตรา 15% โดยอัตราใหม่นี้จะนำมาใช้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้มากกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าน่าจะสร้างรายได้ราว 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ที่มา – BBC, OECD (1), (2), (3), (4)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา