เฟ้อไปหรือไม่ หลัง Gamer ยอมจ่ายเหยียบแสนเพื่อคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียว

เรียกว่าตลาดคอมพิวเตอร์คงพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วก็คงไม่แปลกนัก เพราะผู้บริโภคเริ่มรู้ความต้องการของตนเอง และเข้าใจว่าทำไมต้องซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อมาทำงาน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ซื้อเพื่อทำงานแล้ว เพราะกลุ่ม Gamer หรือผู้ที่ชื่นชอบเล่นเก่มทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ต่างยอมจ่ายเงินเหยียบแสนเพื่อคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

เฟ้อไปหรือเปล่ากับราคาหลักแสน

ถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทย  ฝ่ายผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์ บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เกมต่างๆ ในตอนนี้ถูกพัฒนากราฟฟิกให้มีคุณภาพสูง ดังนั้นการเล่นให้เต็มอรรถรสก็ต้องใช้เครื่องที่รองรับเกมเหล่านั้นได้ และเมื่อความต้องการนี้มากขึ้น แบรนด์คอมพิวเตอร์จึงผลิตเครื่องกลุ่มที่เรียกว่า Gaming Computer ขึ้นมา และด้วยประสิทธิภาพสูง ราคาจึงต้องสูงตามไปด้วย โดยราคาจะมีตั้งแต่ 25,000 – 100,000 บาท และกว่าครึ่งหนึ่งของการซื้อเป็นผู้ปกครองซื้อให้บุตรหลาน

“ราคามันเฟ้อไปหรือเปล่า คงตอบว่าไม่ เพราะด้วยสเปก และดีไซน์ที่ให้มามันก็สมกับราคา อยู่ที่ว่าผู้ซื้อต้องการระดับไหนมากกว่า เพราะมองว่าปีนี้ตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวมน่าจะขายกัน 2 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านบาท และเป็นเครื่องกลุ่มเกมมิ่งราว 500 ล้านบาท ผ่านการเครื่องราคา 25,000 – 30,000 บาท หรือเครื่อง Gaming Notebook ถึง 70% ของจำนวนดังกล่าว ส่วนฝั่งเดสทอป ผู้ซื้อก็เริ่มเปิดใจ และซื้อคอมแบรนด์มากขึ้น แม้ราคาจะสูงกว่าเครื่องประกอบในบางรุ่น แต่ก็แลกมาด้วยดีไซน์ และคุณภาพของสินค้า”

อย่างไรก็ตามการแข่งขันของกลุ่ม Gaming Computer นั้น ปัจจุบันเกือบทุกแบรนด์นำสินค้าลงมาทำตลาดแบบครบไลน์ผลิตภัณฑ์ ดังนั้นอยู่ที่การทำราคา และการออกแบบของแต่ละค่ายว่าจะดึงดูดใจผู้บริโภคมากแค่ไหน นอกจากนี้กิจกรรมทางการตลาด เช่นการสนับสนุนการแข่งขัน E – Sport ก็ช่วยให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน โดย Lenovo เข้าสนับสนุนรายการ U – League ที่เป็นการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย และมีโปรดักต์มากขึ้น ทำให้ปีนี้ยอดขายจาก Gaming Computer คิดเป็น 12 – 15% ของรายได้

mixer-226177_1280
ภาพจาก pixabay.com

Power User คืออีกหนึ่งในผู้ซื้อที่สำคัญ

ไม่ใช่แค่คนชอบเล่นเกมที่ซื้อ Gaming Computer เพราะยังมีกลุ่มใช้งานหนัก เช่นทำงานด้านกราฟฟิก หรือควบคุมแสงเสียง ต่างหันมาซื้อ Gaming Computer กันมากขึ้น ผ่านคุณสมบัติเรื่องการพกพาได้สะดวก และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ประกอบ จากเดิมที่ต้องพกพาเดสทอปออกไปทำงาน ซึ่งการลงทุนซื้อของกลุ่มนี้จะซื้อในราคาระดับ 50,000 บาทขึ้นไป เนื่องจากต้องใช้การประมวลผลที่รวดเร็ว ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขาย Gaming Computer ในตลาดไทยปีนี้กว่า 500 ล้านบาท

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ย้ำว่า เรื่องประกันเครื่องคืออีกปัจจัยสำคัญในการดึงให้ Gamer และ Power User เข้ามาซื้อ Gaming Computer เพราะเมื่อมีราคาสูง การรับประกันก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจะช่วยการันตีคุณภาพได้ แต่ถึงตลาดนี้จะเติบโตมาแค่ไหน อีกไม่นานตลาดก็จะตัน ผ่านตัวสินค้าที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม จนโอกาสที่จะขายเกิน 15% ของภาพรวมค่อนข้างยาก และปัจจุบันตลาดนี้ก็อยู่ที่ 10% ของภาพรวมการจำหน่ายคอมพิวเตอร์แล้ว

Dell Alienware
Dell Alienware

ไม่ใช่แค่คนกรุง แต่ต่างจังหวัดก็ฮิต Gaming

จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานบริหารสายงานผลิตภัณฑ์ และการจัดการ บริษัท แอดไวซ์ โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด ยักษ์ใหญ่ค้าไอทีภูธร ย้ำว่า ในต่างจังหวัดก็มีการซื้อ Gaming Computer เช่นกัน เพราะที่นั่นต้องการซื้อแบบเครื่องเดียวเบ็จเสร็จ คือทำงาน, พกพา และเล่นเกมได้ ซึ่งราคาช่วง 25,000 – 30,000 บาทค่อนข้างตอบโจทย์ จนปัจจัยนี้เองทำให้ราคาเฉลี่ยของการขายโน้ตบุ๊กของบริษัทขึ้นมาเป็น 12,900 – 14,900 บาท/ตัว จากเดิมอยู่ที่ราว 10,000 บาท

สรุป

ตอนนี้ทุกเจ้ามีแบรนด์ย่อยที่ใช้ขายเครื่อง Gaming กันหมดแล้ว ไล่ตั้งแต่ Acer ที่มีแบรนด์ Predator, Asus ผ่านแบรนด์ ROG, HP กับซับแบรนด์ Omen และ Dell ที่นำเข้า Alienware มาขายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ก็คงเหลือแต่ Lenovo เจ้าเดียวที่ยังทำตลาดภายใต้แบรนด์ตัวเองอยู่ แต่คาดว่าอีกไม่นานน่าจะมีซับแบรนด์ออกมาเพื่อแยกความชัดเจนระหว่างเครื่องปกติ กับเครื่อง Gaming

ส่วนราคาในปีหน้า ด้วยตัวเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตที่ถูกลง อาจทำให้ราคาปรับลดลง ประกอบกับการแข่งขันก็ผู้ผลิตทุกเจ้าก็อาจทำให้ราคากลุ่ม Gaming ลดลงมาอีกก็ได้ และเรื่องการเฟ้อของราคานั้นผู้เขียนมองว่าอยู่ที่วิจารณญาณของผู้ซื้อมากกว่าว่าคิดอย่างไร หากซื้อไปแล้วใช้คุ้มก็คงไม่แพง แต่หากซื้อรุ่นราคาสูง และใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หัวข้อนี้ก็คงถูกดึงมาพูดคุยระหว่างผู้ซื้อ กับคนรอบข้างอีกครั้ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา