จับตา 10 เทรนด์ค้าปลีกปี 2018 “ดิจิทัล และการปรับความคิดในธุรกิจ” ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจ “ค้าปลีก” ในต่างประเทศนั้นดิ้นรนกันหนักมาก เพราะถูกกลุ่มค้าออนไลน์มาตีจนยับเยิน แล้วในปี 2561 ภาพรวมอุตสาหกรรมนี้จะต้องเดินไปทางไหนบ้าง ลองมาศึกษา 10 เทรนด์ธุรกิจค้าปลีกไปด้วยกัน

1.วางสินค้ายอดนิยมให้ถูกจุด

ปัจจุบันการปล่อยให้ลูกค้าเดินวนไปวนมาในร้านนานๆ อาจไม่ใช้เรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะพวกเขาเริ่มมีจุดหมายปลายทางในการหาซื้อสินค้าที่ต้องการมากขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการสินค้าภายในร้านก็จำเป็นมากขึ้น เช่นหากรู้ว่าสาขานั้นๆ มียอดขายสินค้าประเภทใดดี ก็ควรวางไว้ข้างหน้า หรือตั้งเชลฟ์พิเศษเพื่อขายสินค้านั้นๆ ไปเลย ซึ่งนั่นรวมถึงบริการชำระเงินที่สะดวกด้วย เช่นร้าน McDonald’s บางแห่งติดตั้ง Touch Screen เพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว

2.การขนส่งจะจำเป็นมากขึ้น

เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ความจำเป็นในการลงทุนเรื่องระบบ Fulfillment ด้วยตนเองในค้าปลีกขนาดใหญ่ก็จำเป็นมากขึ้น เพื่อรองรับการสั่งซื้อที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากในอนาคตได้ คล้ายกับกรณีของ Amazon ที่พัฒนาระบบ Fulfillment ทั้งคลังสินค้า, ระบบจัดส่ง และอื่นๆ ด้วยตนเอง แต่ค้าปลีกขนาดเล็กอาจไม่มีกำลังจ่ายขนาดนั้น ทางที่ดีคือการเข้าไปหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ รวมถึง Startup เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน

3.กลยุทธ์ด้านราคาไม่ได้มีแค่ลด

ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์ด้านราคานั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคโดยตลอด ยิ่งสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ สิ่งของที่ราคาถูกกว่าก็ย่อมได้รับความนิยม แต่จริงๆ แล้วแบรนด์ รวมถึงค้าปลีกต่างๆ มีความหลากหลายในการเดินกลยุทธ์นี้มากกว่าแค่ “ลดราคาสินค้า” ตัวอย่างที่ดีคือ การให้ผู้บริโภคตัดสินใจเองว่าจะยอมจ่ายในราคาที่ลดแล้วหรือไม่ เช่นกรณีที่ซื้อออนไลน์อาจมีให้เลือกว่า ถ้าไม่ใช้บริการส่งคืนสินค้าฟรี จะได้ส่วนลดทันที

4.Brick and Data คืออนาคตใหม่

การลงทุนในเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจค้าปลีกยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งมีข้อมูลลูกค้ามากเท่าไร การคาดการณ์ยอดขายก็ทำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างที่ดีคือ Amazon ที่ซื้อกิจการค้าปลีก Whole Foods ทำให้รู้ว่าผู้บริโภคทั่วไปซื้ออะไรในร้านค้าปลีก และนำมาผนวกกับข้อมูลยอดขายบนโลกออนไลน์ที่แข็งแกร่ง ก่อนเข้าสู่การทำ Omni-Channel อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมส่งโปรโมชั่นถูกต้องเพื่อปิดการขาย

5.การใช้ชีวิตในห้างยังเกิดขึ้นอยู่

แม้การซื้อสินค้าออนไลน์จะทำจากที่ไหน เมื่อไรก็กได้ แต่ภายในห้างสรรพสินค้ายังคงเป็นอีกแหล่งสังสรรค์ของสังคมต่างๆ อยุ่ โดยเฉพาะฝั่ง Baby Boomer กับ Millennial ที่ต้องการหาอะไรที่มีราคาเข้าถึงได้ เพราะยังไม่มีรายได้มากนัก เพื่อผ่อนคลาย และเข้าสังคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตัวธุรกิจห้างสรรพสินค้ายังสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้อยู่ แต่ก็อยู่ที่ห้างเหล่านั้นจะปรับตัวเพื่อให้ตนเองเป็นได้มากกว่าแค่ร้านขายของหรือไม่

6.เปิดร้านย่อยสำหรับสินค้านั้นๆ ก็ช่วยได้

ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีค้าปลีกบางรายตัดสินใจแยกหน้าร้านสำหรับสินค้ายอดนิยม เช่นรองเท้า, เครื่องประดับ และสินค้าแฟชั่นต่างๆ ออกมาตั้งอยู่ในบริเวณอื่น เพื่อสร้างประสบการณ์เลือกซื้อสินค้าที่แตกต่าง แต่ถ้ายังไม่มีขนาดใหญ่พอ บางร้านก็เลือกจะเปิดส่วนจำหน่ายสินค้าเฉพาะ เช่น The Three Shop ก็เปิดชั้นที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพอย่างเดียว

7.Innovation Labs ต้องลุยจริงจัง

เกือบทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นต่างต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีกันทั้งนั้น ทำให้ค้าปลีกยุคใหม่ต้องใส่ใจกับแผนกนี้มากขึ้น เพื่อนำการใช้งาน Artificial Intelligence (AI), Augmented Reality (AR) รวมถึง Blockchain มาพัฒนาใช้ใจกับหลายๆ ส่วนในธุรกิจ ซึ่งก็คล้ายกับเรื่องเบื้องต้น ที่การพัฒนาในลักษณะนี้สามารถทำได้ด้วยการร่วมกับ Startup เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

8.ดีลแบบจำกัดเวลาคืออีกแรงจูงใจ

ดีลแบบจำกัดเวลาเริ่มเป็นที่นิยมกับผู้บริโภคมากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ คือวันคนโสด หรือ 11.11 ที่มีการลดราคาสินค้าออนไลน์กันกระหน่ำ และทุกคนรู้กันว่าช่วงนั้นจะขายได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งการยอมเสียกำไรเพียงน้อยนิด แต่แลกมาด้วยผู้ซื้อทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่จะเข้ามาจับจ่ายในร้านค้า หรือบนออนไลน์ รวมถึงตัวค้าปลีกเองก็ได้ข้อมูลของลูกค้าเพื่อไปต่อยอดในทิศทางอื่นๆ นั่นเท่ากับมันค่อนข้างคุ้มค่ากับการลงทุน

9.การผลิตสินค้าเพื่อตอบมากกว่าความต้องการ

ในแง่ของแบรนด์ หากจะนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้าปลีกให้ปัง การสร้างสินค้าที่จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในแง่มุมอื่นๆ นอกจากตัวสินค้าสามารถแก้ไขได้ ก็จะเห็นในร้านค้าปลีกมากกว่าเดิมด้วย เช่นสินค้าที่ขนย้ายง่าย คล้ายกับของที่ Ikea ทำอยู่ในตอนนี้

10.เพิ่มความโปร่งใสด้วยการ Track สินค้า

สุดท้ายคือผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มใส่ใจกับความโปร่งใส และความจริงใจของสินค้าในร้าน ดังนั้นการสร้างระบบ Track สินค้า ไม่ว่าจะบังคับให้ผู้ฝากสินค้ามาขายต้องทำสินค้าให้ Track กลับไปยังที่ผลิตได้ หรือว่าแบรนด์เหล่านั้นจัดทำอยู่ ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

อ้างอิง // Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา