10 เคล็ดลับในการใช้ Instagram สำหรับธุรกิจ

นอกจาก Facebook แล้วยังมีโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ให้แบรนด์เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ลองมาดู 10 เคล็ดลับในการใช้ Instagram ในเชิงธุรกิจกันดูบ้าง

โซเชียลมีเดียแต่ละตัวขึ้นชื่อว่ามีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป และมีกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกันด้วย สำหรับ Instagram หลายคนเล่นเพื่อต้องการโชว์รูปภาพสวยๆ ไม่ต้องการเน้นอ่านข้อความใดๆ มาก แต่ในช่วงหลังก็ได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ทีเน้นเรื่องวิดีโอมากขึ้น ทำให้คนใช้งานแอคทีฟขึ้นเช่นกัน

พบว่ามีหลายแบรนด์ที่เลือกใช้ Instagram ในการสร้างแบรนด์มากขึ้น ทำให้การเติบโตของการใช้งานสำหรับภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยมีงานวิจัยพบว่า 66% ของแบรนด์มีการใช้ Instagram ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ถือว่าเป็นการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับที่ 2 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 4 ในปี 2017

หากแบรนด์ไหนที่วางแผนอยากใช้งาน Instagram ลองดู 10 เคล็ดลับในการใช้งานสำหรับธุรกิจ

1. เป็นตัวตนของตัวเองดีที่สุด

แบรนด์ต่างๆ มักโดนกับดักของการใช้ภาพจาก Stock หรือภาพกราฟิกโปรโมตแบบเกินจริง แต่จริตของ Instagram เป็นเรื่องของความเรียล ความจริงใจ การที่ใช้ภาพแบบธรรมชาติยังช่วยให้ผู้บริโภคได้เห็นวัฒนธรรม หรือความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้มากขึ้นด้วย

  1. ต้องโกไลฟ์แล้วตอนนี้

การไลฟ์สดกลายเป็นเทรนด์ของการตลาดบนโลกออนไลน์ไปแล้ว โดยที่ 61% ของนักการตลาดบอกว่าพวกเขาวางแผนที่จะเพิ่มกลยุทธ์การไลฟ์สดให้มากขึ้น เพราะผู้ชมชอบดูคอนเทนต์แบบเรียลไทม์

  1. จังหวะต้องดี

Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่มีการโพสท์คอนเทนต์ง่ายที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง สามารถถ่ายภาพได้ทุกที่ที่คุณอยู่ พูดในที่ประชุม อยู่ในออฟฟิศ เปิดตัวสินค้าใหม่ แต่การโพสท์ต้องมีจังหวะในการโพสท์ที่ดี ต้องมีภาพที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

  1. ต้องมีการสนทนาตอบโต้

เช่นเดียวกันกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ต้องสร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภคให้ได้ เมื่อมีการโพสท์ก็ต้องมีการโต้ตอบ มีการสนทนาทั้งกับผู้บริโภคเอง หรือจะเป็นผู้มีอิทธิพลต่างๆ บนโลกออนไลน์ด้วยก็ได้

  1. แนบลิงก์แปะบนประวัติของคุณ

ความท้าทายที่พบเจอบ่อยมากที่สุดในการใช้ Instagram ก็คือผู้ใช้ไม่สามารถโพสท์ลิงก์บนแคปชั่น หรือคำบรรยายใต้ภาพได้ แต่สามารถแนบลิงก์ในส่วนของประวัติส่วนตัวที่อยู่ด้านบนของแพลตฟอร์มได้ จะเปลี่ยนลิงก์ตามจังหวะ หรือช่วงที่ต้องการโปรโมตสินค้า โปรโมชั่นต่างๆ ได้

  1. ต้องเป็น Storyteller

Instagram มีคาแรคเตอร์ในการเล่าเรื่องราวผ่านภาพ โพสท์ต่างๆ ควรเป็นมากกว่าการโพสท์โปรโมตแบรนด์ หรือสินค้า โปรโมชั่น แต่ควรเป็นการเล่าเรื่องราว เล่าสตอรี่ต่างๆ ผ่านภาพ และเชื่อมโยงมายังแบรนด์ เป็นอีกวิธีในการดึงดูดความสนใจได้

ภาพจาก Pixabay
  1. เทคโอเวอร์บัญชีอื่นๆ

การเข้าเทคโอเวอร์บัญชีที่มีฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะป็นพาร์ทเนอร์ หรือคู่ค้าต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างทางลัดของการสร้างบัญชีเช่นกัน หรือมีการทำคอนเทนต์ร่วมกันกับบัญชีอื่นๆ ช่วยดึงดูดความสนใจ และเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายได้

  1. ได้ดาต้าของผู้ชม

นอกจากจะได้สื่อสารกับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถเก็บดาต้าของลูกค้า หรือผู้ติดตามได้ด้วย อาจจะเป็นจากการตอบคำถามจากคลิปวิดีโอสั้นๆ

  1. นำเสนอข้อเสนอพิเศษได้

ฟีเจอร์ Stories เป็นอีกฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ ทำให้มีการใช้งานแอคทีฟมากขึ้น แบรนด์ก็เริ่มมีการใช้ในการสื่อสารกับผู้ชมเช่นกัน โดยสามารถนำเสนอข้อเสนอพิเศษสำหรับคนที่ติดตาม Stories ของคุณได้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วม และสร้างเอ็นเกจเมนต์กับแบรนด์

  1. อย่าแค่ถาม แต่ต้องให้แสดงความคิดเห็น

ในอดีตแบรนด์อาจจะแค่ทำการสำรวจกับผู้บริโภคโดยการโพสท์ภาพบางอย่าง เพื่อทำการสำรวจความนิยมสินค้าในอนาคต แต่อย่าลืมที่จะให้ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย อาจจะเปิดให้ Direct Messages หรือคอมเม้นต์ แล้วเอาความคิดเห็นมาพัฒนาต่อไปในอนาคต เชื่อเถอะว่ามันดีกว่าการตั้งคำถามปลายปิดว่าอันไหนดีกว่ากัน

Source

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา