สรุป 10 ประเด็นสำคัญ หลังผู้ประกอบการแห่คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 7 ช่อง

แบกต่อไม่ไหว ไปไม่รอดหลังจากที่กสทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ สรุปว่ามี 7 สถานีที่ไม่ขอไปต่อ ทำให้ตอนนี้เหลือ 15 สถานีที่สู้ต่อ คำถามที่เกิดขึ้นจะเปิดสถานการณ์อะไรต่อไปบ้าง?

Photo : Shutterstock

มองผลกระทบบวก และลบ 10 ข้อ หลังช่องหายไป 7 ช่อง

หลังจากที่ทางกสทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจทัลคืนใบอนุญาตได้ในวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลสรุปว่ามีผู้ประกอบการรวม 7 ช่องด้วยกันที่ขอยกธงขาวไม่ขอไปต่อ ได้แก่

  1. ช่อง 13 หรือ 3 Family
  2. ช่อง 14 หรือ MCOT Family
  3. ช่อง 19 หรือ Spring News
  4. ช่อง 20 หรือ Bright TV
  5. ช่อง 21 หรือ Voice TV
  6. ช่อง 26 หรือ Spring 26 (NOW 26 เดิม)
  7. ช่อง 28 หรือ 3 SD

ทำให้ตอนนี้มีช่องทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 15 ช่อง จาก 22 ช่อง ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มของทีวีพูลได้ทำการยุติออกอากาศไป 2 ช่องแล้ว

ทั้งนี้ทาง Media Intelligence เอเยนซี่ด้านสื่อโฆษณาได้มีการประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ไว้ 10 ข้อด้วยกัน โดยมีทั้งผลกระทบด้านบวก และด้านลบ แต่มองว่าจะมีด้านบวกมากกว่า

  1. หลังจากปิดสถานีไป 7 ช่องแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำงานได้รับผลกระทบ ถ้ารวมกัน 7 ช่อง คาดว่าน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องรวม 2,000 คน ทั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง

2. ประชาชนมีทางเลือกในการรับชอบคอนเทนต์ หรือเลือกช่องโทรทัศน์น้อยลง จากที่เคยมี 22 ช่อง แต่เหลือ 15 ช่อง มองว่าในระยะยาวอาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

3. ในมุมมองของเอเยนซี่เชื่อว่าจะมีผลบวกมากกว่า การคืนใบอนุญาตจะช่วยลดความเสียหายของผู้ประกอบการ ลดภาวะการขาดทุนสะสม หลังจากที่ประสบมาหลายปี อีกทั้งยังได้เงินชดเชย ไม่มีภาวะเลือดไหล

4. เม็ดเงินโฆษณากระจายไปช่องอื่น แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เม็ดเงินมหาศาลขนาดนั้น เพราะทั้ง 7 ช่องมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันแค่ 8% เท่านั้น มีเม็ดเงินโฆษณารวมกัน 120 ล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่อยู่ในช่อง 3SD และ NOW26 ซึ่งเงินโฆษณาเหล่านี้จะไหลไปยังช่องที่เหลือแน่นอน

5. จุดจบคอนเทนต์อันซ้ำซาก ก่อนหน้านี้ที่มี 22 ช่องคงจะได้เห็นคอนเทนต์ที่ซ้ำกันเกือบทุกช่องทั้งเรื่องข่าว โฮมช้อปปิ้ง หรือแม้แต่ซีรีส์อินเดียที่ช่วงหนึ่งเป็นกระแสความนิยมก็มีหลายช่องทำตามๆ กัน การมีช่องน้อยลง คอนเทนต์ซ้ำๆ ก็น้อยลง ช่องที่เหลือก็เอาเงินทุนไปพัฒนาคอนเทนต์

Photo : Shutterstock

6. 15 ช่องที่เหลือก็ยังต้องเจอศึกหนักอยู่ เป็นศึกที่ต้องเร่งพัฒนาคอนเทนต์ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ จะพึ่งพาเพียงแค่โฆษณาในทีวีอย่างเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างช่อง 3 เป็นกรณีที่เห็นชัดที่สุด มีการปิดไป 2 ช่อง แสดงว่าเป็นการถอยมาตั้งหลักแล้วเน้นแค่ช่องเดียวที่ 3HD ลุยพัฒนาคอนเทนต์ ไม่ใช่เอาละครรีรันอีกต่อไป พร้อมกับได้แม่ทัพคนใหม่อริยะ พนมยงค์จาก LINE ประเทศไทยมาเสริมทัพเชื่อว่าต้องมีโปรเจ็คต์พัฒนาแพลตฟอร์มอื่นๆเพิ่มเติม

7. มุมมองของเอเยนซี่ยังมองว่า 15 ช่องยังเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ดี จากแต่ก่อนที่มีแค่ 4 ช่องหลัก แล้วเพิ่มเป็น 24 ช่อง สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือไปต่อไม่รอด เพราะมี Digital Disruption มีแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเป็นทางเลือก ถ้าดูจากเม็ดเงินโฆษณาในปัจจุบันมองว่าไม่ควรมีเกิน 10 ช่อง และต้องมีโมเดลธุรกิจอื่นๆ มารองรับด้วย

8. สถานีไม่สามารถพึ่งพารายได้จากสปอตโฆษณาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ช่องต้องมีโมเดลธุรกิจอื่นๆ เพราะตอนนี้แข่งกันกันบนตลาดที่ใหญ่ มีแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเป็นคู่แข่ง ยกตัวอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ที่มีแพลตฟอร์ม Mello และ Bugaboo ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการปูทางมาเรื่อยๆ ต้องดูว่าพฤติกรรมคนไทยจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน

9. หลายๆ ช่องเริ่มมีการปรับคอนเทนต์ และก็มีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น PPTV มีการเอาคอนเทนต์วาไรตี้อย่างรายการ The Voice เข้ามาเสริม จากเดิมที่เน้นแต่กีฬา ก็ทำให้เรตติ้งเพิ่มมากขึ้นจากอันดับ 18 ขึ้นมาเป็น 11

10. ส่วนช่อง 8 ของเฮียฮ้อสามารถอยู่ได้จากการขายของ มีโมเดลธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว เป็นช่องที่มีเป้าหมายต่างจากช่องอื่นไปแล้ว ไม่หวังกำไรจากโฆษณา แต่มีการพัฒนาคอนเทนต์เพื่อดึงคนเข้ามาดู แล้วเน้นหารายได้จากการขายสินค้าของตัวเองมากกว่า เรียกว่าเป็นช่องที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา