อุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยมีความคึกคักอย่างต่อเนื่องทั้งปี และมีการแข่งขันกันดุเดือดมาอีกตลาดหนึ่ง โดยที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ต้องมีโมเดลใหม่ มีกิมมิกดึงลูกค้า
หลายคนมองเห็นกรณีศึกษามากมายในต่างประเทศที่ห้างค้าปลีกได้ทยอยปิดตัวลงกันอย่างต่อเนื่อง เพราะโดนพิษจากช้อปออนไลน์ แต่ตรงข้ามกับในประเทศไทยที่ค้าปลีกยังเติบโตต่อเนื่อง มีการขยายสาขาต่อเนื่อง แต่มีโมเดลที่แตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับโลเคชั่น ในขณะเดียวกันกับอีคอมเมิร์ซก็เติบโต แต่ยังไม่ได้กระทบมาก เพราะยังเป็นฐานเล็ก
ในปีที่ผ่านมาได้เห็นปรากฎการณ์ของวงการค้าปลีกมากมายทั้งเรื่องราวเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องราวใหญ่ๆ ได้ทำการรีแคปให้เห็นการเคลื่อนไหวของตลาดโดยได้สรุปมา 10 ข้อได้ศึกษากัน
-
ร้านสะดวกซื้อเข้าถึงไลฟ์สไตล์
ร้านสะดวกซื้อเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีสีสันเพราะใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด โดยที่ปัจจุบันมีผู้เล่นหลายรายทั้งเซเว่นฯ, แฟมิลี่มาร์ท, Lawson 108 และมีร้านฟอร์แมทเล็กของไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Tesco Lotus Express และ Mini Big C ลงมาเล่นในตลาดด้วย ส่วนใหญ่ได้วางจุดยืนในเรื่องอาหารอิ่มสะดวก และมีโลเคชั่นที่เข้าถึงผู้บริโภค
แต่ช่วงปีที่ผ่านมาได้สร้างเสียงว้าวมากมายโดยที่ร้านสะดวกซื้อได้เพิ่มบริการที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นทั้งอาหารตามสั่ง กาแฟสด และมีการรีโนเวทร้านเพื่อให้ทันสมัยใช้โมเดลใหม่ๆ มี Co-working Space มีผลไม้สด ส่งพัสดุ เป็นการเพิ่มความถี่ในการเข้าร้านมากขึ้น
-
ซุปเปอร์มาร์เก็ตโตก็ต้องแตก (โมเดล)
เทรนด์เรื่องสินค้าพรีเมี่ยมยังไปได้สวย พบว่าผู้บริโภคยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้า และประสบการณ์ที่ดี ทำให้ค้าปลีกกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตมีการเติบโตมากที่สุดในบรรดาค้าปลีกทั้งหมด ในไทยก็มีแบรนด์หลักๆ Tops จากค่ายเซ็นทรัล และ Gourmet Market จากค่ายเดอะมอลล์
สิ่งที่ได้เห็นในปีนี้คือนอกจากจะมีสินค้า และบริการระดับพรีเมี่ยมแล้ว ยังมีการแตกโมเดลใหม่ๆ ไปยังพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยที่ท็อปส์ได้แตกโมเดล Tops Plaza เป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ ประเดิมสาขาแรกในจังหวัดพิจิตร บนพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร มีร้านค้า และศูนย์ความบันเทิง ให้ช้อปปิ้งมากกว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ต
ส่วน Gourmet Market ได้แตกสาขานอกห้างมากขึ้น เพราะข้อจำกัดที่เดอะมอลล์มีการขยายสาขาน้อย ทำให้ Gourmet Market ขยายไปสู่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลาดพร้าว และเดอะคริสตัล เป็นโมเดลในการขยายสาขาธุรกิจอื่นๆ ในเครือเดอะมอลล์เช่นกัน
-
ห้างไซส์ใหญ่เริ่มขยับไปไซส์เล็ก เจาะชุมชน/เมืองรอง
ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ๆ จะอยู่ในกลุ่มของไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Tesco Lotus และ Big C รวมถึง ห้างค้าส่งอย่าง Makro ด้วย เมื่อมีการขยายสาขาแบบเต็มขีดจำกัดทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่แล้ว ก็เริ่มเบนเข็มออกสู่โลเคชั่นอื่นๆ ที่มีศักยภาพ
ได้เห็นผู้เล่นค้าปลีกเริ่มเจาะพื้นที่จังหวัดเล็กๆ หรือลงพื้นที่ระดับอำเภอมากขึ้น เป็นสาขาขนาดเล็กลง แต่คล่องตัวขึ้น อย่างโรบินสันก็เริ่มเจาะเมืองรองเช่น แม่สอด ร้อยเอ็ด สกลนคร ส่วน Makro มีการขยายโมเดล Food Service มากขึ้นเพื่อเจาะตลาด HoReCa มีการขยายสาขาอย่างหนักในกรุงเทพ เน้นเจาะพื้นที่ชุมชนที่มีร้านอาหารเยอะ
-
Community Mall ไม่ตาย แต่ไม่เพิ่ม
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่กลุ่ม Community Mall รุ่งเรืองมาก มีการเปิดกันสนั่นหลายต่อหลายแบรนด์ เพราะด้วยโลเคชั่นที่เข้าถึงชุมชน และความสะดวกสบาย เน้นเรื่องร้านอาหาร และมีธนาคารหลักๆ ให้ทำธุรกรรม แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ต้องการสถานที่ One Stop Service ต้องมีบริการครบจบในที่เดียวทั้งทานอาหาร ดูหนัง ช้อปปิ้ง ทำธุระ ทำให้ความนิยมของ Community Mall ค่อยๆ ลดลง
แต่ก็ไม่ถึงกับล้มหายตายจากไป แบรนด์เดิมก็ยังคงอยู่ในตลาด แต่อาจจะมีแม็กเน็ตด้วยการจัดอีเวนท์เพื่อดึงทราฟิกมากขึ้น แต่เท่าที่สังเกตการณ์ไม่ค่อยมีแบรนด์ใหม่เข้ามา ที่เห็นล่าสุดกับ Summer Hill ย่านพระโขนง แต่ได้วางจุดยืนเป็น Community Mall ผสม Mix Use
-
ศูนย์การค้าต้องไปให้สุด แล้วหยุดที่ Mix-use
ช่วงหลายปีมานี้เห็นการเปิดตัวใหม่ของศูนย์การค้าทั้งจากค่ายเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ รวมถึงโปรเจ็คต์ยักษ์จากค่ายอื่นๆ ล้วนแล้วแต่อลังการงานสร้างกันมากขึ้น ทั้งทุ่มงบมหาศาล สร้างให้ยิ่งใหญ่ หรูหรา มีร้านค้าพันธมิตรมากมาย และมีแม็กเน็ตที่น่าสนใจมาดึงดูด
แต่ในช่วงหลังเทรนด์เริ่มไปในเรื่องการผสมผสานมากขึ้น แค่ศูนย์การค้าอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องรองรับด้วย Mix-use เป็นโครงการที่รวมทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม เป็นการจับลูกค้าหลายๆ กลุ่ม สังเกตได้ว่าการขยายสาขาใหม่ของเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ล้วนไปในโมเดล Mix-use เกือบทั้งหมด เพราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการได้ รองรับลุกค้าธุรกิจ และนักท่องเที่ยวได้เพิ่มเติม
-
ศึกค้าปลีกในปั๊มน้ำมัน ต้องจับกับพาร์ทเนอร์
เมื่อผู้ให้บริการสถานีน้ำมันเริ่มเบนเข็มมาโฟกัสกลุ่มธุรกิจ Non-oil มากขึ้น ก็คือค้าปลีกภายในปั๊ม เพื่อเป็นจุดดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าปั๊มมากขึ้น โดยที่ปตท.ได้เริ่มโมเดลนี้ก่อนใคร จนในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นผู้เล่นรายอื่นเดินตามบ้างแล้ว ทำให้ได้เห็นการเปิดศึกจับมือพาร์ทเนอร์กับ “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของปั๊มน้ำมัน
เซเว่นฯ ได้จับกับปั๊มปตท.มานานหลายปี แต่ปตท.เองก็พยายามปั้น Jiffy ที่เป็นร้านสะดวกซื้อของตนเองหลังจากที่ซื้อกิจการปั๊ม Jet ปั๊มเอสโซ่ได้พยายามจับกับ Tesco Lotus Express เป็นโมเดลขนาดเล็กของเทสโก้ โลตัส ส่วนบางจากได้จับมือกับ SPAR ซูเปอร์มาร์เก็ตจากเนเธอร์แลนด์ และปั๊มซัสโก้ที่ได้จับมือกับ Lawson 108 เป็นการเปิดศึกธูรกิจค้าปลีกอย่างเต็มรุปแบบของธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่จะโฟกัสแค่ธุรกิจน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
-
จากอีคอมเมิร์ซ สู่ Omni Channel
มีการพูดถึงอีคอมเมิร์ซมาหลายปีแล้วในวงการค้าปลีกว่าจะกระทบต่อหน้าร้านออฟไลน์มากแค่ไหน แต่ก็พบว่าในไทยยังไม่ได้มีผลกระทบหนักเหมือนอย่างที่ต่างประเทศ เพราะสัดส่วนรายได้จากออนไลน์ยังน้อยมากอยู่ แต่ก็ได้เห็นการเติบโตมากขึ้น
ซึ่งผู้เล่นค้าปลีกได้พยายามพัฒนาช่องทางอีคอมเมิร์ซของตัวเอง เพื่อที่จะดึงลูกค้าไม่ให้ไปไหน สร้างลอยัลตี้ให้มากขึ้น มีการพูดถึงอีคอมเมิร์ซไปจนถึง Omni Channel ที่ผนึกรวมร้านค้าออนไลน์ กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน หมายถึงดูสินค้าจากออนไลน์ และไปซื้อที่หน้าร้านออฟไลน์ หรือมีบริการที่เสริมกัน เป็นนโยบายที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลบุกหนักมากขึ้น ส่วนค้าปลีกรายอื่นยังไม่เห็นทิศทางมากนัก
-
สาวไทย ยังไงต้องสวย Health & Beauty ก็โตสวย
เป็นกระแสร้อนแรงมากในช่วงหลายปีนี้กับค้าปลีกในกลุ่ม Health & Beauty Store แต่เดิมมีผู้เล่นใหญ่แค่ไม่กี่รายอย่าง Watsons และ Boots ต่อมาเริ่มมีผู้เล่นจากต่างชาติเข้ามาเขย่าตลาดเพิ่มเติมอย่าง Tsuruha ประเทศญี่ปุ่นจากค่ายสหพัฒน์ฯ และ Matsutomo Kiyoshi ประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำเข้ามา เป็นร้านที่หลายคนรู้จักเมื่อเวลาไปเยือนประเทศญี่ปุ่น
แต่ที่สร้างกระแสในตลาดได้เป็นอย่างดีก็คือร้าน Eveandboy ร้านมัลติแบรนด์เครื่องสำอาง น้ำหอมต่างๆ โดยที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปีนี้มีการขยายสาขาอย่างหนักในห้างสรรพสินค้า ทำให้เกิดร้านมัลติแบรนด์อื่นๆ ตามมาอย่างบิวเที่ยม หรือการเข้ามาของ Sephora แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ที่ชอบเข้าร้านมัลติแบรนด์
-
ร้านราคาเดียวกลับมาบูม 12 บาท ยัน 60 บาท
ถ้าพูดถึงร้านไลฟ์สไตล์ที่ขายสินค้าราคาเดียวที่เป็นต้นแบบจากร้าน 100 เยนในประเทศญี่ปุ่น มีผู้เล่นรายใหญ่ที่นึกถึงมากที่สุดคือ “Daiso” เนื่องจากมีการทำตลาดมานาน มีสาขาเยอะ ราคาไม่แพง และมีสินค้ามากมายตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ แต่ในตลาดก้มีแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ Komonoya จากกลุ่มเซ็นทรัล, Just Buy ในโรบินสิน, Arcova, โตคูโตคูยะ และ Can Do ส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่ามีร้านใหม่ๆ ทยอยตบเท้าเข้ามาในตลาด พร้อมกับราคาที่ย่อมเยากว่าเดิม เช่น เพนกวิน, แบร์ สโตร์, โมชิโมชิ และมินิโซ เป็นทั้งแบรนด์ไทย และแบรนด์ต่างประเทศ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 12 บาท ไปจนถึง 60 บาท แต่ที่เห็นได้ชัดคือร้าน Miniso จากประเทศจีนมีการบุกตลาดหนักหน่วง จองทำเลในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานหลายๆ แห่ง มีราคาเริ่มต้น 69 บาท เน้นสินค้ามินิมอลสไตล์ญี่ปุ่น ทำให้ได้เห็นพฤติกรรมของคนไทยยังตอบรับกับร้านไลฟ์สไตล์ที่ราคาไม่แพง
-
ค้าปลีก Go Digital สร้างแพลตฟอร์ม Engage กับผู้บริโภค
นอกจากเรื่องการสร้าง Loyalty Program ของแต่ละห้างแล้ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการสื่อสาร และสร้าง Engagement กับลูกค้า พร้อมกับเชื่อมกับบัตร Loyalty Program เพื่อสร้างความสะดวก
กลุ่มเซ็นทรัลได้พัฒนาแอพ Central Department Store สำหรับห้างสรรพสินค้า ใช้สำหรับแจ้งโปรโมชั่น สะสมแต้ม แจ้งข่าวสาร รวมถึงบริการซื้อออนไลน์ กลุ่มเดอะมอลล์ก็มีแอพ The Mall Group เช่นกัน หรืออย่าง Tesco Lotus ก็พัฒนาแอพ พร้อมกับผลักดันเทคโนโลยี iBeacon ที่จะแจ้งข้อมูล โปรโมชั่นเมื่อเวลาลูกค้าเดินในสโตร์ แต่ยังมีข้อจำกัดเพราะต้องเปิดบลูทูธตลอดเวลา จังยังไม่ค่อยนิยมมากนัก
สรุป
- ธุรกิจค้าปลีกในไทยยังมีอะไรตื่นเต้นอีกมากมาย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปีต่อไปอาจจะได้เห็นอะไรแปลกใหม่มากขึ้เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของผู้บริโภค
- ทั้งนี้สมาคมค้าปลีกไทยได้ประเมินอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 น่าจะเติบโตระหว่าง 8-3.0% คืออยู่ในระดับทรงตัว และได้ประเมินภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 มีการเติบโต 3.2-3.4 % (ในขณะที่คาดการณ์ว่า GDP ทั้งปี 2560 จะเติบโตที่ 3.9%)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา