สรุป 10 ปรากฎการณ์ค้าปลีกในปี 2018 ยุคที่ห้างเป็นมากกว่าที่ช้อปปิ้ง

สถานการณ์ค้าปลีกในประเทศไทยเป็นอย่างไรในปี 2018 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการถูก Disrupt ของดิจิทัล แต่ค้าปลีกในไทยก็ยังไปได้สวยอยู่ Brand Inside ได้สรุปมาให้อ่านใน 10 หัวข้อ

Photo : Shutterstock

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของวงการค้าปลีกทั่วโลกดูเหมือนจะเจอวิกฤตหนัก เพราะได้รับผลกระทบจากดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ในไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพียงแต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติหนัก เพราะผู้ประกอบการต่างปรับตัวรับกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างดี

เมื่อปลายปี 2017 ทาง Brand Inside ได้เคยรวบรวม 10 ปรากฎการณ์ค้าปลีกในปี 2017 มาแล้ว ในปี 2018 จึงขอรวบรวม 10 ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการค้าปลีกในปีนี้อีกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แล้วอะไรจะมีอิทธิพลต่อในปีหน้า

  1. เป็นมากกว่าห้าง ที่ต้องสร้างประสบการณ์

แม้ดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากแค่ไหน แต่วงการค้าปลีกก็ต้องเดินหน้าต่อ และต่อสู้เพื่อความอยู่รอดให้ได้ สิ่งทีได้เห็นการปรับตัวของวงการค้าปลีกในไทยก็คือการที่เริ่มปรับโมเดล หรือคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งช้อปปิ้ง แต่มีการเติมคอนเทนต์อะไรใหม่ๆ ให้น่าสนใจ

มีการเสริมเรื่องไลฟ์สไตล์ให้ครบสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ห้างฯ กลายเป็นแหล่งเข้ามาใช้ชีวิต ไม่ใช่จุดประสงค์แค่มาช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และต้องตอบโจทย์ให้ครบทุกกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ ไม่สามารถจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อได้อย่างเดียว

  1. ยังต้องอลังการ หรูหราหมาเห่าอยู่

ในเมืองนอกยังคงมีกระแสการทยอยปิดตัวของห้างค้าปลีกหลายๆ แห่ง แต่ในไทยก็ยังต้องยอมรับว่ายังมีเปิดแห่งใหม่อยู่ตลอดทุกปี เพราะยังมีดีมานด์ในตลาดอยู่ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมของการเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ไปแล้วว่าต้องมีความแปลกใหม่ มีความอลังการ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ผู้บริโภค

ในปีนี้คงหนีไม่พ้นโปรเจ็คต์ยักษ์ใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง ICONSIAM ที่ได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพียงแค่งานเปิดตัวก็ใช้งบประมาณมหาศาลแล้ว อีกทั้งตัวโครงการก็หรูหราอลังการ ยังคงสร้างความตื่นเต้นให้กับคนไทยได้อยู่

  1. O2O ยังน้อยไป ต้อง Omni Channel

omnichannel concept. Banner with keywords and icons

เป็นประเด็นที่พูดถึงมาหลายปีแล้วในวงการค้าปลีกสำหรับเรื่อง O2O หรือการผนึกกันของช่องทาง Online และ Offline หลายค่ายก็ต่างมีบริการเพื่อมาสนับสนุนโมเดลนี้ แต่ในปีนี้ O2O ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ ต้องไปสู่โมเดล Omni Channel เรียกว่ากลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

การทำ Omni Channel ของผู้เล่นค้าปลีกในไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งการทำสโตร์รองรับการซื้อของทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ การทำแอพพลิเคชั่น รวมโปรแกรม CRM เรียกว่าสามารถใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวไปช้อปปิ้งได้ สร้างประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น ต้องเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ

  1. สร้างสีสันด้วยฟอร์แมตใหม่ๆ

ในปีนี้วงการค้าปลีกไม่ได้เปิดแค่ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าแบบธรรมดาอย่างเดียว แต่มีโมเดลใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้ตลาดมีสีสันมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว โดยทั้ง 2 ค่ายใหญ่สยามพิวรรธน์ และกลุ่มเซ็นทรัลต่างปั้นโมเดลเอาท์เล็ตเป็นของตัวเอง

กลุ่มสยามพิวรรธน์ได้ร่วมกับกลุ่ม Simon พัฒนาโครงการ Luxury Premium Outlet ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลได้พัฒนา Central Village เป็น Luxury Outlet เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังผุดศูนย์การค้าในโมเดลใหม่ Porto de Phuket รีเทลรูปแบบ Open Mall แห่งแรกของกลุ่มที่ใจกลางภูเก็ต จับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มบนที่มีการใช้จ่ายสูงอีกด้วย เห็นได้ชัดว่าทิศทางของค้าปลีกยุคนี้ต้องมีอะไรใหม่ๆ คิดแค่แบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว

  1. ศึกของช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงดุเดือด

มีคนกล่าวไว้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซคือการเอาเงินมาเผาเล่น ผู้ประกอบการต้องมีสายป่านที่ยาวจริงๆ ถึงจะอยู่รอด แต่ก็ยังเป็นตลาดที่หอมหวานที่ผู้เล่นรายใหม่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปีที่ผ่านมาก็มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ JD Central หรือ www.jd.co.th เป็นการร่วมทุนกันของ JD.com อีคอมเมิร์ซเบอร์สองในประเทศจีน และกลุ่มเซ็นทรัล

ในขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่รายเดิมอย่าง Lazada และ Shopee ก็ยังฟาดฟันกันหนักหน่วง อัดโปรโมชั่นกันถี่ยิบ ใช้ทั้งพรีเซ็นเตอร์ รวมถึงมีแคมเปญใหญ่อย่าง 11.11 และ 12.12 กระตุ้นให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตมากขึ้น

  1. ร้านสะดวกซื้อเป็นทุกอย่าง

ภาพจาก Shutterstock

เทรนด์ของร้านสะดวกซื้อนอกจากจะมีสินค้าที่ครอบคลุมทั่วจักรวาลแล้ว ยังต้องมีบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เห็นข่าวของ 7-11 ที่เพิ่มบริการรูปแบบใหม่ๆ ทั้งอาหารตามสั่ง รวมถึงมีอาหารที่หลากหลายมากขึ้น

แต่ในปีนี้เริ่มมีบริการใหม่ๆ ทั้งการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในการรับส่งพัสดุ บริการเดลิเวอรี่ส่งของถึงบ้าน และการเป็น Banking Agent หรือตัวแทนของธนาคารในการทำธุรกรรมบางอย่างของธนาคาร ชี้ให้เห็นว่าร้านสะดวกซื้อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไปแล้ว ไม่ใช่แค่ซื้อของอุปโภค บริโภค แต่มีบริการอื่นๆ ที่เสริมไลฟ์สไตล์ด้วย

  1. Health & Beauty ยังโต

เทรนด์ร้านมัลติแบรนด์ หรือร้าน Health & Beauty ยังคงมีทิศทางที่เติบโตอยู่ เพราะตลาดสินค้าความสวยความงามมีการเติบโตขึ้นทุกปี ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่ยังให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่มนี้อยู่ เห็นได้จากหลายปีก่อนได้มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้ตลาดร้านบิวตี้สโตร์ก็มีการแข่งขันกันดุเดือดเช่นกัน มีทั้ง Watsons, Eveandboy, Beautrium และ Stardust จากค่าย MPG (แมงป่อง)

และในปีนี้ได้เห็นแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นอีกเช่นกันอย่างร้าน @cosme store มัลติแบรนด์จากญี่ปุ่น โดยการนำเข้าของสยามพิวรรธน์ เปิดสาขาแรกที่ ICONSIAM และร้าน HEJ Street Beauty ภายใต้การบริหารของ บริษัท ซีโฟร์ โกลบอล จำกัด เป็นบริษัทในเครือ กลุ่มบริษัท ทาพาโก้ จำกัด (มหาชน) เห็นได้ว่าตลาดนี้ยังหอมหวานอยู่

  1. บิ๊กดาต้าเริ่มมีทิศทางชัดขึ้น

ปีนี้เป็นปีที่มีการพูดถึงบิ๊กดาต้ากันอย่างมาก และได้เห็นการนำบิ๊กดาต้ามาทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในส่วนของค้าปลีกมีการทำบิ๊กดาต้าเยอะมากเพราะมีการเก็บข้อมูลจากบัตรสมาชิกต่างๆ และสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อที่จะส่งโปรโมชั่นได้แบบ Personalization หรือแบบรายบุคคลมากขึ้น ไม่ได้ส่งข้อมูลแบบแมสอีกต่อไป หรือต่อยอดในการทำระบบ CRM

  1. นโยบายงดให้ถุงพลาสติก

ภาพจาก Getty Images

เป็นทิศทางที่แห็นได้ชัดมากขึ้นในปีนี้เมื่อผู้เล่นค้าปลีกหลายรายประกาศงดให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เป็นนโยบายที่มีการลงมือเป็นรูปธรรม จากแต่เดิมที่เป็นการรณรงค์ให้งดใช้ถุง ใช้คู่กับนโยบายให้แต้มสะสม ซึ่งไม่สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เพราะไม่ได้ดึงดูดใจเท่าไหร่นัก

แต่ในปีนี้มีการลงมือชัดเจนหลายค่ายประกาศว่างดให้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน หรืออย่าง 7-11 ที่มีแคมเปญใหม่ถ้าไม่รับถุงพลาสติกก็เหมือนสมทบทุนทำบุญไปด้วย มีตัวเลขที่พิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ถุงพลาสติกในไทยลดไปจริงๆ แม้จะยังไม่เป็นตัวเลขที่มากนัก แต่ก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้น

  1. รีเทลไปอยู่ในทุกพื้นที่

พื้นที่ค้าปลีกไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้พื้นที่ค้าปลีกอยู่ในทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ สถานีรถไฟฟ้า โดยแต่ละที่มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกให้มีประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น ปั๊มน้ำมันเชลล์ก็บุกหนักในส่วนของธุรกิจค้าปลีก หรืออย่าง Metro Mall ก็ปั้นพื้นที่ค้าปลีกให้เป็น Rest Area ของคนกรุง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา