ส่องดูหุ้น Zoom Video, Why it’s so Boom… | BI Opinion

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน จนค่อยๆ ลุกลามจนเกิดการระบาดในระดับ Pandemic (ระบาดใหญ่ระดับโลก) ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมจนรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชุดใหญ่ สิ่งที่ตามมาก็คือการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ล่าสุด ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง Dow Jones ให้ผลตอบแทนในปี 2020 เหลือติดลบราว -16.8% S&P 500 -11.3% แต่ดัชนี Nasdaq 100 ที่รวมหุ้นในกลุ่ม New Economy อย่างหุ้นเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และเฮลท์แคร์ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมาพักใหญ่แล้ว โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +4.9% สำหรับปี 2020 และบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในดัชนี Nasdaq 100 คือหุ้น Zoom Video ให้ผลตอบแทนสูงถึง +157% ในระยะเวลายังไม่ครบ 5 เดือนเต็ม เรามาทำความรู้จักกับหุ้นตัวนี้กันให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ

Zoom Video ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ปี 2019 หรือก็เพิ่งปีที่แล้วนี่เอง โดยนักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดี ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันแรกจากราคา IPO ถึง 72% หลังจากการซื้อขายวันแรกเพียง 3 วัน Zoom กลายเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในปี 2019 ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด โดยบริษัทมีผู้บริหารสูงสุดที่ชื่อว่า เอริก หยวน ผู้ซึ่งเคยทำงานในบริษัทที่ชื่อว่า WebEx ที่ให้บริการด้าน VDO Conference และมาถูก Cisco Systems ซื้อไปในปี 2007 แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คุณหยวน มีประสบการณ์ในธุรกิจ VDO Conference มายาวนานขนาดไหน และสิ่งที่คนในวงการมักจะพูดกันคือ “คุณหยวนจะรู้อะไรบางอย่างที่คนในธุรกิจส่วนใหญ่ไม่รู้”

ภาพจาก Shutterstock

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 5 ล้านราย รัฐบาลต่างๆ ต้องดำเนินนโยบาย lockdown ประเทศและให้ประชาชนเก็บตัวอยู่กับบ้านหรือ Social Distancing ไวรัสได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรงแต่โลกก็ยังหมุนอยู่ ผู้คนยังต้องใช้ชีวิตต่อไป ธุรกิจยังต้องเดินไปข้างหน้า สิ่งที่จะทำให้ระยะห่างสั้นลงและเดินหน้าต่อไปได้คือบริการ VDO Conference ของ Zoom

ผู้คนทั่วโลกสามารถใช้ Zoom ได้ในหลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมออกกำลังกายเป็นกลุ่ม ปาร์ตี้ เรียนหนังสือ ทำอาหาร และประชุมทางธุรกิจ อันที่จริง ในตลาดก็มีบริการ VDO Conference อยู่หลายเจ้าไม่ว่าจะ WebEx ของ Cisco, Microsoft Team, Skype, Google Meet และล่าสุด Messenger Rooms จากทาง Facebook ที่รองรับวิดีโอคอลได้มากถึง 50 คนพร้อมกัน กะว่าจะเอามาชนกับ Zoom โดยตรงเลย แต่งานนี้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

จากที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมด ทุกเจ้าคือยักษ์ใหญ่ในวงการทั้งสิ้น แต่ทำไมบริการของ Zoom ถึงได้รับความนิยมมากที่สุด จากในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ดาวน์โหลดแอพ Zoom ไปเพียงไม่ถึง 200,000 คนต่อวัน เวลาผ่านไปเพียงเดือนเศษเท่านั้น ยอดดาวน์โหลดได้พุ่งขึ้นถึง 3.42 ล้านคนต่อวัน หรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ปัจจัยหลักที่ทำให้บริการได้รับความนิยมสูงขนาดนี้ คือคำเดียวสั้นๆ เลยนั่นคือ “ใช้ง่าย” นอกจากจะมีผู้ดาวน์โหลดแอพเพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นอย่างแรงนับตั้งแต่นั้นมา ในเดือนมีนาคม มีผู้ใช้บริการ Zoom ถึง 300 ล้านคนต่อวันจากตัวเลข 10 ล้านคนต่อวันในเดือนธันวาคม 2019

ภาพจาก Shutterstock

ปัจจัยหลักที่ทำให้ Zoom ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ จุดเริ่มต้นของมันคือการใช้งานที่ง่าย เมื่อใช้ง่ายคนก็ใช้เยอะ เมื่อคนที่ใช้เยอะคือคนรอบตัวเรา เราก็อยากจะใช้ด้วยหรือที่เรียกกันว่า Network Effect แต่การที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นในระดับหลายสิบเท่าในระยะเวลาสั้นๆ ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามขึ้นในใจว่า บริษัทอย่าง Zoom จะรองรับการใช้บริการที่มากขึ้นนี้ได้ไหวหรือไม่ การบริการยังจะลื่นไหลได้เหมือนตอนที่คนใช้ยังไม่มากได้หรือป่าว ซึ่งคนที่ใช้ประจำจะรู้เลยว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย พระเอกของเรื่องนี้มีอยู่ 2 คนครับ คนแรกคือ Amazon Web Service คนที่ 2 คือ Microsoft Azure

ยุคนี้เป็นยุคของ Sharing Economy อย่างชัดเจน ให้คนที่ใหญ่และมีกำลังเงินสูงเป็นคนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้คนส่วนใหญ่มาร่วมกันใช้ นอกจากค่าใช้จ่ายจะถูกลงแล้วประสิทธิภาพก็ยังสูงกว่าด้วย การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการของ Zoom จึงไม่เป็นปัญหาใดๆ ต่อการบริการเพราะทางบริษัทสามารถให้ทางผู้ให้บริการ Cloud Computing รายใหญ่ที่สุดในโลก 2 รายเป็นคนจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้ ไหนๆ ก็พูดถึง Cloud Computing แล้ว อีกหนึ่งผู้ให้บริการด้าน Streaming บันเทิงอย่าง Netflix ก็ดำเนินบนระบบ Cloud ของ Amazon Web Service เช่นกัน จะเห็นได้ว่า ที่สหรัฐฯ มีระบบนิเวศที่สนับสนุนในการเติบโต ผู้ให้บริการสามารถมาโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองจำเป็นต้องทำได้มากขึ้น บริการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกคำถามที่จะเกิดขึ้นคือ แล้วเมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Microsoft, Google และ Facebook ลงมาเล่นในตลาดนี้ Zoom จะอยู่ได้และยังจะได้รับความนิยมอยู่ไหม และหลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผ่านไปจะเป็นอย่างไร

ตัวผู้เขียนเชื่อว่าคงยากที่จะมาล้มเสน่ห์ของ Zoom ลงได้ ด้วยจำนวนผู้ใช้ในระดับสูงจากการใช้งานที่ง่าย หน้าตาของบริการที่ดูไม่ยุ่งเหยิง จำนวนคนที่ใช้อยู่เยอะ และ คำว่า Zoom แทบจะเป็นคำทับศัพท์สำหรับ VDO Conference ไปแล้ว คงยากที่จะมีใครมาล้มได้ง่ายๆ นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่มีธุรกิจมากมายที่ต้องดูแล ไม่เหมือนกับ Zoom ที่บริการ VDO Conference คือกระดูกสันหลังของบริษัท การเน้น การพัฒนาคงจะต้องต่างกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแน่นอน

ภาพจาก Shutterstock

หลังการคลายมาตรการ lockdown แล้ว ยอดผู้ใช้จะเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งก่อนว่ารายได้หลักของบริษัทมาจากผู้ใช้บริการแบบสมัครสมาชิก ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วง lockdown คือคนที่สมัครแบบฟรี หลังจากที่คลายมาตรการ lockdown เรามองว่าจำนวนผู้ใช้คงจะต้องลดลงกว่าช่วงที่เกิดการ lockdown แน่นอนแต่ส่วนใหญ่น่าจะมาจากบัญชีแบบฟรีมากกว่า ส่วนบัญชีที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนเชื่อว่าจะยังใช้งานต่อเนื่องและน่าจะมีสมาชิกใหม่มาสมัครแบบเสียเงินมากขึ้นเนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลายๆ บริษัทอาจจะดำเนินนโยบาย Work From Home ต่อเนื่อง และอาจจะไปลดการเช่าพื้นที่สำนักงานลงแทน

ด้านความเสี่ยงของบริษัทนอกจากที่ผู้เล่นรายใหญ่จะเข้ามาเปิดให้บริการ VDO Conference แล้ว ปัจจัยในเรื่องงบก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนจะมองข้ามไปไม่ได้ รวมถึงราคาที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ก็อาจจะเกิดการปรับฐานขึ้นได้ในช่วงต่อจากนี้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง แต่ในบางบริษัทกลับได้รับผลกระทบในเชิงบวกอย่างมหาศาล หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท Zoom Video ซึ่งบริการของบริษัทน่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องถึงแม้จะมีการคลายมาตรการ lockdown แล้วก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่สนใจที่จะลงทุนในหุ้นตัวนี้แต่ก็กังวลในเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับซื้อหรือขาย ก็อยากจะแนะนำให้ไปซื้อผ่านกองทุนแทน โดยกองทุน One-Ugg มีการลงทุนในหุ้นตัวนี้อยู่ ถึงแม้จะถืออยู่ไม่มาก ราว 1.9 – 2.0% แต่ก็เป็นการกระจายการลงทุนไปในหุ้นที่เติบโตดีตัวอื่นด้วยและเป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องที่ไม่คาดฝัน โดยกองทุนนี้ให้ผลตอบแทนในปี 2020 สูงถึงกว่า 20% นับเป็นกองทุนอีกกองหนึ่งที่สามารถทำผลงานได้ดีมากในภาวะวิกฤตแบบนี้ครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา