หนึ่งในการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจที่น่าสนใจช่วงที่ผ่านมาคือ การประชุมกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ 22-24 ส.ค. 2566 ซึ่ง BRICS ถือเป็นกลุ่มที่มีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขนาด GDP มีสัดส่วน 26% ของ GDP โลกทำให้หลายฝ่ายต้องจับตามองถึงทิศทางและความร่วมมือของกลุ่มจะเป็นอย่างไร
สรุปการประชุม BRICS 2023 มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าในการประชุม BRICS 2023 มี 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่
- BRICS สะท้อนมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ในฝั่งของประเทศเกิดใหม่ที่เตรียมพร้อมไปสู่การแบ่งแยกโลกออกเป็นสองขั้ว ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรัฐเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ-จีน ทำให้กลุ่ม BRICS หาแนวทางที่จะลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ กับชาติตะวันตก ซึ่งแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจ BRICS มีสัดส่วน 26% ของ GDP โลก ตามหลังกลุ่ม G7 ที่เป็นตัวแทนของประเทศพัฒนาแล้วตัวแทนชาติตะวันตก ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 43.7% ของ GDP โลก แต่ด้านจำนวนประชากรกลุ่ม BRICS จะครอบคลุมสัดส่วนประชากรเกือบครึ่งโลกหรือ 42% ของประชากรโลก
- การผลักดันให้สมาชิกหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินและลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยแผนงานนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรจึงได้หันมาใช้เงินหยวนทำการค้ากับจีนจนทำให้เงินหยวนขยับขึ้นมามีสัดส่วนถึง 4.5% ของการชำระเงินเพื่อการค้าและบริการระหว่างประเทศในโลก (ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเงินหยวนมีสัดส่วนที่ 1.9% รายงานโดย SWIFT) แต่ปัจจุบันสกุลเงินดอลลาร์ฯ จะยังเป็นสกุลเงินที่มีสัดส่วนการใช้ในโลกสูงที่สุดถึง 84%
นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลายประเทศเกิดใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) หรือ BRICS Bank และข้อตกลงกองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับ World Bank และ IMF โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นเอื้อประโยชน์ต่อประเทศเกิดใหม่มากกว่าและเปิดให้สมาชิกกู้ยืมในสกุลเงินท้องถิ่น โดย NDB มีหน้าที่ให้การสนับสนุนเงินกู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ CRA เป็นข้อตกลงที่ธนาคารกลางของชาติสมาชิกจะให้การสนับสนุนด้านการเงินฉุกเฉินในกรณีเกิดวิฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากพิจารณาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนของกลุ่ม BRICS กับชาติตะวันตกได้ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ Intra-BRICS กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในด้านการค้า Intra-BRICS มีสัดส่วน 13.7% ของการค้ารวมของ BRICS (จาก 12% ในปี 2553) และการลงทุนอยู่ที่ 4.7% ของการลงทุนไหลเข้าสะสมของ BRICS (จาก 1.3% ในปี 2553) สะท้อนความเชื่อมโยงกันด้านเศรษฐกิจมากขึ้นของสมาชิกในกลุ่ม BRICS อย่างไรก็ตามตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังคงความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกปลายทางที่สำคัญ
- การพิจารณารับสมาชิกใหม่เป็นวาระสำคัญ โดยล่าสุดสมาชิกเดิม 5 ประเทศ ประกาศรับ 6 ประเทศ ที่ล้วนเป็นตัวแทนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย, และอาร์เจนตินา เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567
ทั้งนี้ ยังมีหลายประเทศสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกมีทั้งหมดจำนวน 40 ประเทศ โดยมี 23 ประเทศได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อาร์เจนติน่า, เวเนซุเอลา, แอลจีเรีย, โบลิเวีย, อียิปต์, เอธิโอเปีย, คิวบา, คาซัคสถาน, บาห์เรน, เบลารุส, ฮอนดูรัส, คูเวต, โมร็อกโก, ไนจีเรีย, ปาเลสไตน์, เซเนกัล, บังกลาเทศ, รวมถึงประเทศในอาเซียนอย่างไทย, อินโดนีเซีย, และเวียดนาม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้ว่ากลุ่ม BRICS จะไม่ได้มีข้อตกลงการรวมกลุ่มอย่างชัดเจนเหมือนกรอบ FTA แต่นานาชาติต่างมองว่าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการลงทุนท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้น
กรณีของไทยกับการเข้าร่วม BRICS
สำหรับไทยที่ปัจจุบันได้สมัครเป็นสมาชิก BRICS ไปแล้วเมื่อต้นปี 2566 และอยู่ระหว่างรอพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกในลำดับถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่า BRICS ไม่มีข้อกำหนดในการเปิดตลาดเหมือนความตกลง FTA แต่หัวใจในการเข้าเป็นสมาชิก BRICS อย่างเป็นทางการหลักๆ คือการรักษาสมดุลของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ
โดยประเทศไทยมีคู่ค้าทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศ BRICS คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละประเทศเพื่อให้ปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์
ข้อดีสำหรับไทยในการเข้าร่วม BRICS เป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปของโลก โดยในปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนถึง 22.8% ของการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดของไทย ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7 ที่มีสัดส่วน 26.2% ของการค้ารวมไทย อีกทั้งเป็นกลุ่มที่เปิดกว้างให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับเป็นช่องทางลดพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงเม็ดเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกฝั่งขั้วเศรษฐกิจของโลก
ข้อควรระวังสำหรับไทย คือ ต้องยอมรับว่า BRICS เป็นอีกขั้วตรงข้ามของชาติตะวันตก ทางการไทยคงต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งชาติตะวันตก และอาจนำมาซึ่งการมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมกลุ่มเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น G7 การประชุมผู้นำอเมริกาใต้ จนมาถึงการประชุม BRICS ต่างชี้ให้เห็นถึงจุดยืนที่เริ่มแสวงหาทางเลือกอื่นเพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก โดยเฉพาะในด้านการลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่ล้วนถูกกล่าวถึงในทุกเวที สะท้อนการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจออกมาจากขั้วเศรษฐกิจดั้งเดิมไปสู่ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
หมายเหตุ ในปี 2566 นี้ได้มีการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ (G7) และ การประชุมผู้นำอเมริกาใต้ (South American Summit) ซึ่งล้วนให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์
ที่มา ธนาคารกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา