ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้เปลี่ยนรูปแบบ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การศึกษาที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน เพื่อไม่ให้การเรียนต้องหยุดชะงักลง
แน่นอนว่าการเปลี่ยนการเรียนการสอนจากที่เคยทำในห้องเรียน เป็นการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ได้มีเวลาวางแผนล่วงหน้าย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อิตาลีเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนรัฐบาลมีคำสั่งปิดร้านค้า สถานที่สาธารณะ รวมถึงโรงเรียน International School of Monza ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี ได้เริ่มการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทันทีที่มีคำสั่งปิดโรงเรียนจากรัฐบาล ด้วยการถ่ายคลิปวิดีโอแนะนำคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนถึงแนวทางการเรียนการสอนเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น
หลังจากนั้น 5 สัปดาห์ โรงเรียนประสบความสำเร็จในการสอนแบบออนไลน์ แม้ว่าทั้งคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนอาจยังไม่คุ้นเคย แต่ก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา คุณครูและนักเรียนสามารถแชร์ข้อความผ่านกระดาษโพสต์อิทจำลอง ทำงานเดี่ยว งานกลุ่ม และปรึกษากับคุณครูได้ผ่าน Microsoft Teams รวมถึงโรงเรียนตัดสินใจเพิ่มเวลาเรียนให้มากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธภาพ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าบางโรงเรียนจะสามารถเตรียมตัวรับมือกับการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดี แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการบังคับให้การศึกษาต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และเทคโนโลยีในช่วงเวลาสั้นๆ
Andreas Schleicher หัวหน้าภาคการศึกษา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา มองว่า การเรียนการสอนในระบบออนไลน์ได้เปลี่ยนภาพรวมของระบบการศึกษา คือนักเรียนจะเป็นฝ่ายเลือกสิ่งที่เรียนตามความสนใจ เข้าใจความชอบและสิ่งที่ตัวเองเรียน นักเรียนอยากเรียนในวิชาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ยากที่ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนกลับสู่รูปแบบเดิม
ความไม่เท่าเทียมจะปรากฎชัดชึ้น
การเปลี่ยนการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์จะยิ่งทำให้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษามากขึ้น จะมีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์สำหรับใช้เรียนออนไลน์ นักเรียนบางคนใช้โรงเรียนเพื่อเข้าถึงอาหาร น้ำดื่ม และสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าที่บ้าน โรงเรียนจึงไม่ใช่สถานที่สำหรับการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นเหมือนศูนย์รวมของสังคม
จากข้อมูลของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา พบว่าอัตราการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เพื่อใช้เรียนหรือทำงานของนักเรียนในทวีปยุโรป เช่นประเทศเดนมาร์ก สโลวีเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ และออสเตรีย สูงถึง 95% แต่ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียกลับมีนักเรียนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนหรือทำงานเพียง 34% เท่านั้น
หรือจะกล่าวในอีกทางคือนักเรียนที่มีพื้นฐานทางบ้านที่ดีกว่า ย่อมมีความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากกว่านักเรียนที่มีพื้นฐานทางบ้านไม่ดี บางครอบครัวอาจหาซื้ออุปกรณ์ให้ลูก หรือแม้แต่หาครูสอนพิเศษให้ลูกเรียนเพื่อเพิ่มความเข้าใจ ส่วนเด็กที่พื้นฐานทางบ้านไม่ดีอาจมีปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถสนับสนุนให้ลูกเข้าถึงการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพดีได้ แต่หากโรงเรียนเลือกที่จะไม่สอนแบบออนไลน์ในช่วงนี้จะทำให้การเรียนการสอนต้องหยุดลงเป็นเวลานานหลายเดือน
อาชีพของพ่อแม่ก็มีส่วนเช่นกัน เพราะการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้านนักเรียนจำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่ และความช่วยเหลือจากพ่อแม่ หากพ่อแม่ทำงานที่ไม่สามารถแบ่งเวลาให้ลูกได้ เช่น หมอ พยาบาลที่ต้องทำงานเป็นกะ หรือพ่อแม่บางคนไม่มีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ย่อมทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลง
นอกจากนี้ลักษณะนิสัยของเด็กนักเรียนแต่ละคนก็มีส่วนเช่นกัน เพราะการเรียนแบบออนไลน์ต้องอาศัยวินัย ความพยายาม และความตั้งใจของเด็กแต่ละคนด้วย ถึงแม้มีอุปกรณ์พร้อมเรียน พ่อแม่พร้อมสนับสนุนแต่ถ้าเด็กไม่มีความตั้งใจที่จะเรียน การเรียนออนไลน์ให้รู้เรื่องเหมือนเรียนในห้องเรียนปกติคงเป็นเรื่องยาก
ห้องเรียนจะไม่เหมือนเดิม
แน่นอนว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ ย่อมไม่เหมือนกันการเรียนผ่านระบบออนไลน์ Julia Peters คุณครูวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคม เล่าว่าการเรียนในระบบออนไลน์ทำให้พฤติกรรมการเรียนเปลี่ยนไป เธอสามารถสอนให้เด็กๆ ได้เรียนความรู้พื้นฐานด้วยตัวเองที่บ้าน โดยใช้คลิปวิดีโอหรือเว็บไซต์ เมื่อเด็กๆ เรียนด้วยตัวเองจบแล้ว จึงช่วยกันทำกิจกรรมกลุ่มด้วยกัน ซึ่งจะช่วยสอนให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ข้อมูล และประเมินผลได้ดีกว่าการเรียนที่โรงเรียน
นอกจากนี้ Peters ยังเล่าว่าแอปพลิเคชันที่ใช้อย่าง Microsoft Teams ยังทำให้เธอสามารถให้คำแนะนำกับเด็กนักเรียนแต่ละคนได้แบบทันทีขณะที่กำลังพิมพ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้นักเรียนทำงานให้เสร็จ และส่งงานมาก่อน ส่วนนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจบทเรียน หรือมีปัญหาเธอสามารถ VDO Call ส่วนตัวกับเด็กนักเรียนได้ทีละคนเพื่ออธิบายเพิ่มเติม ซึ่งดีกว่าการเรียกเด็กนักเรียนมาพบในขณะเรียน เพราะอาจมีเสียงรบกวนจากนักเรียนคนอื่นๆ
Naima Charlier คุณครูจาก โรงเรียนนานาชาติ Nord Anglia International School ในฮ่องกง เล่าว่าการสอนออนไลน์ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีให้กับเธอ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยากและไม่เคยทำมาก่อน แต่เธอเชื่อว่าครูแต่ละคนจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าวิธีการสอนแบบไหนที่ต้องนำมาใช้กับการสอนแบบออนไลน์ วิธีไหนใช้ได้ผล และวิธีไหนใช้ไม่ได้ผล
เทคโนโลยีการศึกษาจะพัฒนาขึ้น
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระตุ้นให้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาพัฒนาขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่สามารถสนับสนุนการศึกษาได้อยู่แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้กับการศึกษาอย่างจริงจัง กลับพบว่าเทคโนโลยีที่มียังไม่ตอบโจทย์กับการเรียนออนไลน์
โดยเฉพาะการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียน เพราะเทคโนโลยีการศึกษาที่มีในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว เด็กนักเรียนไม่ได้มีปฎิสัมพันธ์กับคุณครูเหมือนการเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะการยกมือถามคำถามเมื่อไม่เข้าใจ
ซึ่งในตอนนี้มีบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการศึกษา เริ่มเปิดให้โรงเรียนและคุณครูในบางประเทศ ใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตัวเองแบบฟรีๆ แล้วเช่นกัน ซึ่งโรงเรียนบางส่วนนิยมใช้ Microsoft Teams ในการเรียนการสอนออนไลน์
แม้ว่าสถานการณ์จะบีบบังคับทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสอนออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลดีกับบริษัทเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีการศึกษาเกินครึ่งมองว่าเป็นเพียงผลดีเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่การการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลเสียต่อบริษัทในระยะยาวมากกว่า
ที่มา – Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา