อนันดา เปิดตัว Ananda UrbanTech ประกาศความเป็น Tech Company ในวงการอสังหาริมทรัพย์

อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ นำทีมโดย ชานนท์ เรืองกฤตยา CEO หนุ่มหล่อไฟแรง เดินทางซุ่มเงียบไปศึกษาเรื่องราวของ Startup ในหลายประเทศรวมถึง Silicon Valley เพื่อนำแนวคิดและกระบวนการกลับมาปรับใช้กับ อนันดา ในการ Transform ตัวเองจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ไปสู่การเป็น Tech Company ที่อยู่ในวงการอสังหาฯ นอกจากจะพัฒนาโครงการต่างๆ แล้ว ยังต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาชีวิตคนเมืองได้ด้วย

จาก Concept นี้ทำให้เกิดเป็น Ananda UrbanTech เน้นเทคโนโลยีเพื่อชีวิตคนเมือง (Urban Living Solutions) ผสมผสานทั้ง ConstructionTech, PropTech, IoT, FinTech, HealthTech, Robotics/AI เป้าหมายคือ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาชีวิตคนเมือง

เพราะถ้าบอกว่า อนันดา เป็น PropTech หรือ ConstructionTech คำตอบคือเป็นมานานแล้ว คือ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการก่อสร้าง และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคำว่า UrbanTech จึงครอบคลุมถึงการดูแลลูกบ้านของอนันดาทั้งหมดด้วย

3 กลยุทธ์ขับเคลื่อน Ananda UrbanTech

อนันดา เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยรายแรกๆ ที่ประกาศปรับตัวอย่างชัดเจนเพื่อเป็น Tech Company และขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ

  1. การสนับสนุน Ecosystem ให้กับ Startup, Accelerators และ Incubator เพราะรู้ว่า อนันดา ไม่สามารถพัฒนาเพียงลำพัง แต่ต้องสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้นและเป็นพัฒนาร่วมกันในการยกระดับอุตสาหกรรมทั้งระบบ
  2. จัดตั้งกองทุน Fund of Fund ลงทุนในกองทุนนวัตกรรมทั่วโลก การลงทุนในกองทุนต่างๆ จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และยังได้เรื่องของธุรกิจและการลงทุนในระยะยาวของบริษัท
  3. บริหารกิจการร่วมทุน Corporate Venture Capital การลงทุนโดยตรงใน Startup ที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาและเติบโตได้แบบก้าวกระโดด

ชานนท์ บอกว่า ทั้งหมดจะช่วยให้ธุรกิจของอนันดา รักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเป็น S Curve ตัวต่อไป แน่นอนการพัฒนาโครงการต่างๆ ยังสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้อนันดาได้ตามแผนจนถึงปี 2020 แต่ 3 กลยุทธ์ใหม่จะช่วยสร้างธุรกิจเพิ่มขึ้น และเติบโตต่อไปในอนาคต

สำหรับในเบื้องต้น ยังไม่มีการลงทุนใน Startup เวลานี้ แต่ได้เปิดให้เข้ามาทดลองให้บริการได้ เช่น Haupcar เป็น Startup ด้าน car-sharing รายแรกของไทย ให้จองรถขับได้ตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 วัน คิดค่าบริการ 49-55 บาทต่อ 30 นาที และคิดเพิ่ม 5.50 บาทต่อกิโลเมตร หรือคิดค่าใช้จ่าย 1,300 – 1,500 บาทต่อวัน และคิด 5.50 บาทต่อกิโลเมตร กรณีที่ขับเกิน 100 กิโลเมตร มีแอปพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลด ซึ่งอนันดา นำร่องให้บริการในโครงการ IDEO Q จุฬา-สามย่าน และ IDEO Mobi อีสท์เกสต์

แนะ CEO เร่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อสร้าง Innovation

ชานนท์ บอกว่า CEO ขององค์กรต่างๆ เริ่มมองเห็นแล้วว่า สิ่งสำคัญขององค์กรยุคใหม่คือ การสร้างนวัตกรรมหรือ Innovation ให้เกิดขึ้นในธุรกิจ และสิ่งที่จะสร้างให้เกิด Innovation คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ และผู้บริหารคือ ส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนั้นที่ Ananda UrbanTech จะไม่มีห้องส่วนตัว ไม่มีการแบ่งชั้น ไม่มีโต๊ะประจำ ผู้บริหารและพนักงานต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น

“องค์กรรุ่นใหม่จะมีลักษณะ Flat คือเป็นระนาบเดียวกัน ผู้บริหารและพนักงานใกล้ชิดกัน ที่อนันดาสร้าง Town Hall ขึ้นมา เพื่อให้พนักงานสามารถถามคำถามได้ และผู้บริหารต้องตอบได้ทุกคำถาม สุดท้าย ทีมงานของอนันดาจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ”

สำหรับสำนักงานใหม่ อนันดาใช้งบประมาณก่อสร้าง 300 ล้านบาท รวมถึงโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีภายในทั้งหมด แนวคิดเน้นการประสานความร่วมมือกัน มีส่วนสันทนาการให้พนักงาน มีพื้นที่ทำงานที่สมดุล บรรยากาศที่ผ่อนคลาย

มีพื้นที่ให้พักผ่อนด้วย !!

สรุป

อนันดา เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆ ที่ประกาศเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น Tech Company แต่ยังคงอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป้าหมายในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้าง ecosystem ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน โอกาสอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต เกิดขึ้นจากการยอมรับและเปลี่ยนแปลงบริษัทให้ทันกับยุคสมัย มารอดูกันว่า ในวงการอสังหาริมทรัพย์มีบริษัทอะไรอีกบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา